“จิราพร” ซัด “ประยุทธ์” แร่เนื้อเถือแผ่นดินให้ “คิงส์เกต” จี้ เปิดเผยค่าโง่หากไทยแพ้คดี พร้อมแฉ 11 รายการไทย ขอประนีประนอม หวั่นพื้นที่สำรวจแร่ทับซ้อนที่อุทยานฯ

วันที่ 18 ก.พ.65 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันที่สอง ซึ่งเป็นวันสุดท้าย

โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงคดีเหมืองทองอัคราตอนหนึ่งว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ถามว่าการเลื่อนแต่ละครั้งใครขอเลื่อน เลื่อนเพราะอะไร ใครได้หรือเสียประโยน์ เพราะมีข้อสังเกตว่าพอเลื่อนอ่านคำชี้ขาด ไม่นานประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิอื่นๆ เกือบทุกครั้ง และตั้งแต่ประเทศไทยถูกบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ “คิงส์เกต” ฟ้องร้อง

รัฐบาลไทยไม่เคยชี้แจงต่อประชาชนเลยว่า คิงส์เกตฟ้องร้องไทยประเด็นใดบ้าง เรียกค่าเสียหายเท่าไหร่ จากการเทียบเคียงกรณีเหมืองทองในประเทศเวเนซุเอลา ที่มีความคล้ายคลึงกันประเมินได้ว่า ถ้าไทยแพ้คดีจะต้องจ่ายขั้นต่ำประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยบอกว่าเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไปเอง หากเป็นเช่นนั้นตนขอถามว่าทำไมไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชน ว่าคิงส์เกตเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่

“อย่าอ้างว่าตอบไม่ได้เพราะเป็นความลับที่อนุญาโตตุลาการไม่ให้เปิดเผย เพราะในแถลงการณ์ของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มี.ค.61 ระบุว่า อนุญาโตตุลาการให้กระบวนการพิจารณาเป็นความลับ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น การตอบคำถามส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะบ่ายเบี่ยงไม่ตอบไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการตอนนี้อนุญาโตตุลาการพร้อมอ่านคำชี้ขาดแล้ว แต่มีการขอเลื่อนไปเรื่อยๆ” น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวอีกว่า สรุปแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับ คิงส์เกต จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือจะเดินหน้าเจรจากัน หรือเลือกที่จะไม่เจรจา แต่จะสู้คดีกันจนถึงที่สุด หากไทยเลือกสู้คดีจนถึงที่สุดก็มีโอกาสแพ้คดีสูงมา และต้องจ่ายค่าโง่ในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ

ซึ่งตรงกับข้อมูลของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.64 โดยระบุว่าคิงส์เกตมีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จจากชั้นอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้ หมายความว่าเขามั่นใจว่าถ้าตัดสินชี้ขาด เขาจะชนะคดีแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือพล.อ.ประยุทธ์หรือประเทศ พล.อ.ประยุทธ์จะควักเงินตัวเองจ่ายหรือเอางบประมาณแผ่นดินไปจ่าย

น.ส.จิราพร อภิปรายอีกว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงตรงไปตรงมา ว่าการเปิดทางให้คิงส์เกตนำผงเงิน ผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ไปขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมเจรจายอมความหรือไม่ คดียังไม่ถึงที่สุดรัฐบาลก็ให้สิทธิเปิดเหมืองทำต่อ

และคาดว่าที่รออนุญาตเกือบ 6 แสนไร่ จะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน เป็นไปได้อย่างไรที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมพื้นที่ 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ตอนนี้นอกจากจะได้พื้นที่เดิมคืนยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่จากการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา

“รายการเหล่านั้น เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการเจรจาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ คำตอบอยู่ในแถลงการณ์ของคิงส์เกตต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ก.ย.64 ระบุว่า คิงส์เกตและรัฐบาลไทยได้ร่วมกันร้องขอคณะอนุญาโตตุลาการ ชะลอคำชี้ขาดไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.64 เพื่อขยายเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน และคิงส์เกตได้เจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณาข้อตกลง ซึ่งจะต้องทำตามขั้นตอนมีทั้งหมด 11 รายการ ตรงนี้ชัดเจนว่ามีการเจรจาประนีประนอมยอมความกัน” น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า สำหรับ 11 รายการ อาทิ การให้ใบอนุญาต และคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในเหมืองทองชาตรี การต่ออายุการอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญ การให้สิทธิและการลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงเงินทุน เพื่อการพัฒนาสำหรับการปรับปรุงการขยายเหมือง

การพัฒนาโรงงานผลิตทองคำในท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการรับรองระดับสากล การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการนำบริษัท อัคราฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นทั้งหมด ทั้งหมดคือสิ่งที่คิงส์เกตระบุว่ากำลังเจรจาต่อรองกับไทย ชัดเจนว่าที่ผ่านมาการที่ไทยให้ผลประโยชน์ และคืนสิทธิต่างๆให้คิงส์เกต เป็นข้อต่อรองในการเจรจาประนีประนอมยอมความ

“พล.อ.ประยุทธ์คืนเหมืองให้ต่างชาติ แต่ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน หลงมัวเมาในอำนาจจนบ้านเมืองจะพัง ปิดเหมืองไปแล้ว ประเทศเสียหายแล้ว ต้องมาคืนสิทธิให้เขาอยู่ดี ประเทศไทยต้องเสียให้กับคิงส์เกตจากการเจรจาครั้งนี้ อาจมหาศาลมากกว่าเม็ดเงิน และทองคำที่ต้องชดใช้ในกรณีที่แพ้คดีเสียอีก” น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า การให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่กว่า 4 แสนไร่ และการให้ประทานบัตร เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.เหมืองแร่ 2560 กำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ต้องไม่ใช่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำ เป็นต้น และกำหนดให้ต้องทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หลังมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องเอาพื้นที่ในประเทศมากาง เพื่อกำหนดว่าพื้นที่ใดทำเหมืองแร่ได้บ้าง ผ่านมาเกือบ 5 ปี ประเทศไทยยังไม่ได้มีการประกาศเขตเหมืองแร่

แต่ตอนนี้มีการเปิดทางให้สำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ ต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองให้บริษัท อัคราฯ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่อนุมัติทับซ้อนเขตอุทยานฯหรือไม่ และในพื้นที่อีก 6 แสนไร่ ที่คิงส์เกตทำเรื่องขอประทานบัตรทำเหมือง และขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ค้างไว้ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทองคำ ชื่อ แหล่งสุวรรณ และแหล่งโชคดี พื้นที่รวมกันกว่า 3.1 หมื่นไร่ คาดว่าอยู่ในเขต อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย คำถามคือพล.อ.ประยุทธ์จะยกพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติให้คิงส์เกตสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่

“ที่ผ่านมามีความพยายามดึงเวลา รัฐบาลค่อยๆแร่เนื้อเถือแผ่นดินให้คิงส์เกตไปเรื่อยๆ รายการข้อตกลงที่นำมาเจรจายอมความกันอยู่เหนือข้อพิพาท ซึ่งข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกตกับไทย จุดศูนย์กลางปัญหาเป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งให้ระงับการทำเหมืองของบริษัท อัคราฯ และที่เจรจายอมความกันเพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากให้มีการตัดสินมาตรา 44 ใช่หรือไม่ เพราะถ้าคณะอนุญาโตตุลาการพิเศษออกคำชี้ขาด

เขาจะต้องตัดสินประเด็นข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการต้องชี้สถานะทางกฎหมายของมาตรา 44 ซึ่งคงไม่มีอภินิหารทางกฎหมายใดในโลกนี้ที่จะทำให้การใช้มาตรา 44 เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมในเวทีสากลโลก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายเถื่อนที่ไม่ผ่านรัฐสภา แต่ออกโดยคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วคณะอนุญาโตตุลาการจะกล้ารับรองความมหัศจรย์ของกฎหมายเถื่อนนี้หรือ ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ว่ามาตรา 44 ไม่มีสถานะทางกฎหมาย จะกลายเป็นสึนามิที่สะเทือนถึงผู้ที่ออกมาตรา 44 ทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน