เพื่อไทย ยื่น 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชงนายกฯต้องเป็นส.ส. หากพ้นส.ส.ต้องพ้นนายกฯด้วย เพิ่มสิทธิเสรีภาพ เน้นสิทธิประกันตน ยันไม่ได้ทำเพื่อพรรค ทำเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….. จำนวน 3 ฉบับ

ประกอบด้วย ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว, ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและชุมชน และร่างแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรคห้าของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34, 44, 45, 47และ 48 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 ทั้งหมด 3 ฉบับ โดยฉบับแรก มีหลักการว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของนายกฯ โดยเราแก้ไขเพิ่มเติมให้มาจากส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 คือให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อได้แต่ต้องเป็นส.ส. และเมื่อเราแก้ไขที่มาของนายกฯ ให้มาจากส.ส. ดังนั้น มาตรา 170 ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นเฉพาะตัว จึงให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุการสิ้นสมาชิกภาพส.ส.ด้วย

ฉบับที่ 2 เราแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสิทธิการคุ้มครอง การส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังเพิ่มเติมด้วยว่า โครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการรัฐ ที่ดำเนินการและมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ฉบับที่ 3 เราเขียนเน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เพิ่มเติมเรื่องสิทธิประกันตน สิทธิการดำเนินการตามกฎหมายอาญา สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมและทั่วถึง และสิทธิการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับการคุ้มครอง

ส่วนสิทธิเรื่องการชุมนุมสาธารณะ เราแก้ไขเพิ่มเติมให้คำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญเดิม มีข้อด้อยมาก เขียนสั้นแค่ว่าบุคคลย่อมได้รับบริการจากรัฐ เราจึงเขียนให้ชัดเจนเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพ ให้มีความเท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า ส่วนมาตรา 48 สิทธิด้านสวัสดิการ ได้เติมเต็มการเข้าถึงสิทธิการดูแล ตั้งแต่มารดา ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและเนื้อหาสาระ หากไม่มีบทบัญญัติใดที่ต้องแก้ไขก็บรรจุเข้าวาระได้ คาดว่าจะพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งทั้ง 3 ร่าง ไม่มีเงื่อนไขที่จะเป็นปัญหาไม่รับหลักการ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อพรรค แต่ทำเพื่อประชาชน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภา ที่มานายกฯ ต้องชัดเจนและยึดโยงกับประชาชน

ส่วนที่เราไม่เสนอแก้ไขมาตรา 272 เพราะเห็นว่าร่างของภาคประชาชนที่เสนอเข้ามานั้น มีความสมบูรณ์ที่รัฐสภาจะรับได้ หากพรรคเสนอ อาจเป็นประเด็นได้ ดังนั้น เราจะสนับสนุนร่างของภาคประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งรับหลักการและการพิจารณาวาระ 2 และ 3

ด้านนายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ส่วนจะบรรจุระเบียบวาระช่วงสมัยประชุมหรือไม่ ต้องดูก่อนว่าจะเปิดสมัยประชุมวิสามัญหรือไม่ เนื่องจากต้องดูว่า การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ หากสมาชิกรับหลักการวาระแรก และตั้งกมธ. พิจารณาเสร็จก่อนเปิดประชุมสมัยสามัญเดือนพ.ค. สามารถเข้าชื่อ 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภา ขอทำเรื่องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญพิจารณาทั้ง 2 ฉบับในวาระ 2-3 ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน