ส.ว. ถกเข้ม รมช.สาธารสุข ปมถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่น แนะชะลอก่อนกระทบประชาชน ชงทุกฝ่ายร่วมหารือ ชูสูตรปฏิรูป เสนอนายกฯ ทบทวนใหม่

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการ(กมธ.)สาธารณสุข วุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่มีนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในด้านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อาทิ การบริหารจัดการภารกิจงบประมาณ และบุคลากร รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เข้าร่วมหารือ

ที่ประชุม กมธ.ระบุว่าไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังอบจ. แต่เล็งเห็นว่า การถ่ายโอนโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมอาจเกิดปัญหาตามมา 3 ประเด็น

1.การตีความการดำเนินการตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และรพ.สต. ให้แก่ อบจ. อาจเข้าข่ายตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเด็น เช่น การถ่ายโอนได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่

2.ด้านการบริหารจัดการงบประมาณให้ รพ.สต. จะเบิกจากผ่านหน่วยงานใด และ 3.ด้านทรัพยากรบุคคลสังกัด รพ.สต. ที่ประสงค์โอนย้ายและไม่ย้าย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ควรให้ข้อมูลและความมั่นใจต่อบุคลากรที่ไม่ประสงค์โอนย้าย และทางผู้รับโอน ต้องให้หลักประกันว่า มีงบเพียงพอ ซึ่งเชื่อว่า อบจ.ที่มีศักยภาพ ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าหากเป็น อบจ.ขนาดเล็ก ยังไม่พบความชัดเจน หากโอนย้ายไปแล้วเกิดปัญหากับบุคลากรเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร

ด้านนายสาธิต กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. เป็นการกระจายอำนาจ ตนเห็นด้วยในหลักการและสอดคล้องกับพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนฯ 2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ โดยจะเสร็จในเดือนต.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีข้อห่วงกังวลต่อการถ่ายโอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเกิดอุปสรรคด้านการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ ขอนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากกมธ.ไปพิจารณษต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมกมธ.ยังมีมติเห็นควรให้จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดสัมมนา และการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาทบทวนชะลอการถ่ายโอน โดยให้ทุกฝ่าย ร่วมกันหารือและออกแบบระบบการให้บริการ โดยอาจให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปเขตสุขภาพนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่ายบริการในแต่ละเขตสุขภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน