ประเดิมเวที “ฝ่ายค้าน” รับฟังความเห็นปชช. ย้ำ “ประยุทธ์” อยู่ได้แค่ 8 ปี ขอมีสำนึกลาออก เย้ย ถ้ามาเจอศึกซักฟอกเดี๋ยวก็ร่วง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค.2565 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้ชื่อโครงการ “ฝ่ายค้านรับฟังปัญหาทั่วไทยเพื่อประชาชน” เพื่อเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชน

โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐ จันทรวทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ​​ประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาธิการคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน)

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.​​บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ​หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ​​เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายเทวกฤต พรหมมา​​ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ ​​ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์​​ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หน้าที่ของฝ่ายค้านวันนี้ ต้องทำให้เห็นว่า คนที่ไม่มีคุณสมบัติจะดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ดังนั้น เราจึงจะมารับฟังพี่น้องประชาชนกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เมื่อครบ 8 ปีด้วย ทั้งนี้ ถ้านายกฯ คนนี้บริหารดี ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเราจะสนับสนุนให้เขาอยู่ต่อ แต่ตรงกันข้าม วันนี้พี่น้องประชาชนประสบกับทุกข์แสนสาหัส ทั้งจากโรคระบาดและปัญหาปากท้อง วันนี้ประชาชนติดโรคเท่าเทียมกัน ประชาชนซื้อของแพงเท่าเทียมกัน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

ประชาชนไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน นี่เป็นเหตุที่เราต้องมาคุยกันในวันนี้ ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเราทำงานร่วมกัน หลายคนถามว่าเหตุใดพรรคร่วมฝ่ายมีความเห็นไม่ค่อยตรงกัน ตนว่านี่เป็นเรื่องดีในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเห็นต่าง เรามีเอกภาพเชิงนโยบาย แต่เป้าหมายร่วมกันคือการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ยอมรับคนที่ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญและเผด็จการ แต่การดำเนินการของแต่ละพรรคเราให้สิทธิแต่ละพรรคทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชน

จากนั้นเวลา 10.00 น. เริ่มการเสวนาภายใต้หัวข้อ “หมดเวลานายกฯ ก่อนประเทศหมดเวลา” โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราบอกว่าเขาหมดเวลา แต่เขาก็บอกเขามีเวลาถึงปี 66 ซึ่งความเห็นตนคือ เราไม่ควรให้เวลากับนายกฯ คนนี้มาตั้งแต่แรก เพราะเขามาจากการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจมาปกครองประเทศ และเป็นการรัฐประหารที่เกิดจากการสมคบคิดกันกับกลุ่มการเมืองที่ต้องการได้อำนาจมาปกครองประเทศ วันนี้เกิดรัฐบาล 3 ป. ที่ไม่แคร์พรรคการเมืองอื่นๆ ที่มาร่วมรัฐบาล

แล้วเขาต้องการอยู่ยาวเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ โดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่แอบแฝงคำถามพ่วง มีนายกฯ คนนอกได้ มีส.ว. 250 คน มาเลือกนายกฯ ซึ่งประธานกรรมการสรรหาคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ถามว่าเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ นอกจากนี้ยังห้ามรณรงค์ด้วย

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นายกฯ กำลังอยู่ครบ 8 ปี ตนขอถามว่ามีประชาชนคนไหนมีความสุขบ้าง ตนไม่เห็นมี เห็นมีอยู่กลุ่มเดียวที่มีความสุขคือกลุ่มนายทุน ซึ่งการเป็นนายกฯ 8 ปี ไม่ได้เขียนยกเว้นไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าตนเป็นศาลฯ ตนคงวินิจฉัยว่า นายกฯ ต้องพ้นจากความเป็นนายกฯ เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี และคงบอกว่าคุณต้องไปได้แล้ว และถ้าต้องการความสง่างาม เดือน ส.ค. นี้ คุณไปได้เลย

ด้านนายพิจารณ์ กล่าวว่า วาระ 8 ปีนายกฯ จะเริ่มนับหนึ่งเมื่อไหร่นั้น ทั้งนี้ วาระ 8 ปี ที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่าถ้ารัฐมนตรีคนใดจะเข้าสู่อำนาจก็จะอยู่นานไม่ได้ นี่คือเจตนาของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า รู้อยู่แก่ใจว่าเจตนาที่เขียนคืออะไร พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบ 8 ปีแล้วในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ตนคิดว่าต้องมีสำนึก แต่ไม่รู้จะหาสำนึกจากคนคนนี้ได้หรือไม่ ดังนั้น ตนอยากสื่อสารไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้มีสำนึกลาออกก่อนจะถึงเดือน ส.ค.-ก.ย.

หรือก่อนที่จะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ประเทศนี้บอบช้ำมากพอแล้ว เราต้องการผู้นำที่จะนำพาเราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผู้นำที่มีความเข้าใจประชาชน ทันยุคสมัยที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาบริหารประเทศ ผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารภายใต้สถานการณ์วิกฤต

ไม่ใช่ประเทศขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว เงินที่จะมาเยียวยาประชาชนยามข้าวยากหมากแพงก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่ในงบประมาณปี 66 เราก็จะเห็นการจัดซื้ออาวุธไม่หยุดหย่อน เราต้องการผู้นำที่เป็นพลเมืองโลก เคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่เห็นในตัว พล.อ.ประยุทธ์

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาหลายอย่าง ในด้านสังคมเราเห็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน มีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการคุกคามนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวที่เห็นต่าง ขณะที่ดัชนีรับรู้ทุจริต จาก 180 ประเทศ ในปี 62 เราอยู่อันดับที่ 101 ในปี 64 อยู่อันดับที่ 110 นี่คือผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าปราบโกง ด้านเศรษฐกิจ บริหารผิดพลาดล้มเหลวจากกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจ SMEs มากมายปิดตัวลง

คนตกงานจำนวนมาก กู้เงินก็มากที่สุดแต่ไม่เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันจากการใช้จ่ายงบเหล่านั้น และที่แย่ที่สุดคือการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ รัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหาจริงๆ นี่คือระเบิดเวลาของสังคม มีชนวนมากมาย หนึ่งในนั้นคือวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ และคนที่จะจุดชนวนคือศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามีคนไปยื่นตีความและศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ถึงปี 70 นั่นคือการจุดชนวนระเบิดเวลามาตรา 272 อยากให้ประชาชนช่วยกันแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่า หมดเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า นายกฯคนนี้ ความรู้ไม่มี ความดีก็ไม่ปรากฏ ขนาดพรรคตัวเองมีไม่ถึง 200 คนยังแตก ยังปกครองไม่ได้เลย แล้วจะไปปกครองประเทศได้อย่างไร วันนี้หมดเวลาสำหรับพล.อ.ประยุทธ์แล้ว โอกาสของท่านก่อนที่เราจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจท่าน คือ การยุบสภา หรือไม่ก็ลาออกเท่านั้นเอง เพราะถ้าท่านมาเจอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เดี๋ยวท่านก็ร่วง 8 ปี ที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนมาก ท่านไม่มีโอกาสอีกแล้ว

ทางเดียวที่ตนพอมองออกว่าเป็นทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการลาออก แต่ก็กลัว ส.ว. ไม่ยกมือให้ แล้วไปยกมือให้เอาพล.อ.ประวิตรเข้ามาอีก อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ของฝ่ายค้าน ขอให้ทุกพรรคควบคุมดูแลคนในพรรคให้ดี อย่าให้เป็นงูเห่า แต่เข้าใจว่าพรรคใหญ่คนเยอะคุมยาก พรรคตนไม่กี่เสียงจึงคุมได้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายกฯ จะหมดเวลาตามรัฐธรรมนูญ คือ วันที่ 25 ส.ค. พ.ศ.2565 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร มีความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ แม้จะใช้บทเฉพาะกาล มาตรา 246 ยังระบุว่า คณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมนายกฯ ด้วย ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่วันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ท่านอาจจะฝืน เพราะท่านมีศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งมากับมือที่จะตีความให้เป็นนายกฯ ต่อได้

แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ จะอยู่ได้ถึงวันที่ 24 มี.ค.2566 เพราะรัฐธรรมนูญระบุวาระรัฐบาลไว้ 4 ปี เขาบอกว่าจะดูอดีตสังคมใดให้ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ไปดูที่กฎหมาย ถ้าจะดูอนาคตให้ดูที่เยาวชนหรือการศึกษา วันนี้ประเทศไทยหมดอนาคตตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ ซึ่งเขียนโดยคนฉีกรัฐธรรมนูญ คนที่ไม่ศรัทธาต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย หลังจากรัฐบาลนี้เข้ามา เรามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ทั้งความยากจน สิทธิเสรีภาพ ด้านที่ดิน และเรื่องความยุติธรรม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน