วิโรจน์ลงพื้นที่ ย้ำต้องแก้ไขการศึกษา อนาคตของชาติ เหตุสนใจมานาน ต้องปรับตอบโจทย์ พ่อแม่ เด็ก ครู เตรียมนำเป็น12 นโยบายหลัก เปิดตัว 27 มี.ค.นี้

วันที่ 20 มี.ค.2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. จากพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่สนามเป้า เพื่อติดตามประเด็นการศึกษา โดยเผยว่าตนตามเรื่องนี้มานานและอยากแก้ไขปัญหาในกรุงเทพ ขอชูประเด็นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ตอบโจทย์พ่อแม่ในกรุงเทพฯ ต้องไปทำงานอย่างสบายใจ กทม.ต้องสนับสนุนการศึกษา บริการดูแลเด็กหลังเลือกเรียน

ทั้งนี้ต้องเพิ่มงบอาหาร ให้เด็กมีโภชนาการที่ดี และสำคัญสุดโรงเรียนในสังกัดกทม. ต้องปราศจากการกลั่นแกล้งรังแกให้ได้ มีการจัดจ้างครูการศึกษาพิเศษ และนักจิตวิทยาเพิ่มเติม ถ้าสิทธิเด็กได้รับการคุ้มครอง ครูและเด็กเข้าใจกัน หน้าต่างของการเรียนรู้จะเปิดกว้างขึ้น คุณภาพการเรียนการสอนก็จะดีขึ้น

โจทย์ที่ 2 คือต้องตอบโจทย์เด็ก คนกรุงเทพต้องการให้เด็กสามารถคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นหาตัวเอง มีโอกาสพัฒนาทักษะที่สำคัญ มีมนุษยสัมพันธ์ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเด็กไม่มีเวลาก็จะทำไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนกทม. จะเรียนให้น้อยลง ลดการสอบลง แล้วเปิดพื้นที่ในการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ในการพัฒนาทักษะอาชีพ และหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาทักษะการเงินส่วนบุคคล ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการช่วยชีวิต ฯลฯ ให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต

โจทย์ที่ 3 คือ ครู ระบบการศึกษาของ กทม. ต้องให้โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน เช่น การสั่งซื้อหนังสือเรียน และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยตัดขั้นตอนเยิ่นเย้อ ที่ต้องผ่านเขตออก ให้มาที่สำนักการศึกษาได้โดยตรง และที่สำคัญครูจะต้องมี อำนาจในการจัดการเรียนการสอน

ยืนยันว่านโยบายการศึกษาเป็นนโยบายที่ตนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะการลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ คือการลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ และยังเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเมืองที่คนเท่ากันในระยะยาว โดยนโยบายการศึกษาจะเป็น 1 ใน 12 นโยบายหลักของทีมที่จะเปิดตัวในวันที่ 27 มี.ค.นี้








Advertisement

ทางน.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะนักวิชาการการศึกษาและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เผยว่าสถานการณ์ปัญหาการศึกษาของนักเรียนในกรุงเทพมหานครอยู่ในภาวะวิกฤต ยกปัญหา 3 ข้อ ได้แก่ 1.ปัญหาสวัสดิการของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีหลายครอบครัวต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในยุคโควิดที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนในกรุงเทพที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยต้องประสบปัญหาระหว่างการเรียนการสอน ขอแนะนำว่า กทม. ควรสนับสนุนงบประมาณสวัสดิการในเด็ก อัดฉีดสวัสดิการที่เพิ่มมากขึ้น

2.นักเรียนในพื้นที่กรุงเทพขาดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาพื้นที่กรุงเทพ มีราคาต้องจ่าย เพราะแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสาธารณะเข้าถึงง่ายมีน้อยเกินไป และ 3.นโยบายในประเทศจำกัดการเรียนรู้ ทำให้แนวทางการจัดการในโรงเรียนมีข้อจำกัด ปัจจุบันรัฐเน้นแก้ปัญหา หาออกนโยบายอุดช่องโหว่ด้วยหน่วยงาน SE (Social Enterprise) มากกว่าการทบทวนนโยบายระดับชาติ

ด้านว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว แอดมินเพจ ครูขอสอน กล่าวว่า ในฐานะเป็นครูที่อยู่ในระบบการศึกษา ขอยกตัวอย่างสถานการณ์ของครู และการเรียนการสอนให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหา คือ โรงเรียนในสังกัดกทม. 400 กว่าโรงเรียน มีการดูแลผ่านสำนักงานเขต จึงขอตั้งคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแลพอหรือไม่

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และความโยงใยระหว่างครู-เด็ก และ ครอบครัว ซึ่งคนกทม. มีทางเลือกมากมายในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ร.ร. กทม. ร.ร. สพฐ. ร.ร. เอกชน ร.ร. นานาชาติ แต่ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งในครอบครัว และโรงเรียนในระบบ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน