วันที่ 11 ม.ค. นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอให้แสดงมหรสพและงานรื่นเริงประกอบการหาเสียงได้ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะย้อนยุคกลับไปแบบเดิม เพราะไม่ใช่สาระของการเลือกตั้ง รวมทั้งสร้างความไม่เป็นธรรมอีกด้วย

หลักของกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ห้ามไม่ให้กระทำบางอย่าง เช่น ออกทีวีหรือวิทยุ ไม่ให้จัดงานรื่นเริง เป็นต้น ก็เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนน้อย จึงให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีปราศรัย แล้วเฉลี่ยเวลาให้กับผู้สมัครได้พูดในเวลาที่เท่าๆ กัน ดังนั้นการจะกลับไปให้จัดงานมหรสพช่วงหาเสียงได้ เท่ากับว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่มีทุนหนาก็จะมีโอกาสมากกว่าในการจ้างนักร้องลูกทุ่งหรือหมอลำชื่อดังมาแสดง ซึ่งก็จะดึงดูดประชาชนได้มากกว่า หากยังยืนยันจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ควรให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนไม่เห็นด้วย ระยะหลังประชาชนสนใจฟังการปราศรัยหาเสียง เพราะประชาชนมีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนักการเมือง พรรคการเมืองผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมายหลายช่องทาง ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การจะรับรู้ข้อเสนอแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองรวมถึงคุณสมบัติของผู้สมัครมีไม่กี่ช่องทาง แต่ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเซียลมีเดียได้หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้ประชาชนสนใจฟังปราศรัยหาเสียงลดลง

“ยุคปฏิรูปการเมืองเราควรยึดแนวทางให้มีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของการทำงานการเมืองอย่างแท้จริง น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการส่งเสริมให้มีช่องทางการใช้จ่ายที่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น” นายองอาจ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน