‘อ.ปริญญา’ ยก กม. ชี้ ‘ศรีสุวรรณ’ แจ้งความ ‘ชัชชาติ’ ปมป้ายหาเสียง อาจสับสนระหว่างประกาศกับคำสั่ง ติงเกินเบอร์ให้แจ้งความประชาชนข้อหาลักทรัพย์

วันที่ 30 พ.ค.65 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียง ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. ความว่า ป้ายหาเสียงทำกระเป๋า #สำหรับใช้กันเองในทีม #ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ตามที่มีผู้ไปร้องต่อ กกต.ว่าป้ายหาเสียงทำกระเป๋าของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะเป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณได้เป็นตัวเงิน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตนเองนั้น

เรื่องนี้ความจริงแล้วไม่มีประเด็นที่ซับซ้อนอะไรครับ เพราะการที่จะผิดมาตรา 65 (1) ของ #พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 จะต้องเป็นการ “จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด” เพื่อ “จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง” ซึ่งก็คือ #การห้ามซื้อเสียงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของก็ตาม

แต่ทั้งนี้เนื่องจากคุณชัชชาติ ได้ประกาศต่อสาธารณะเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเฟซบุ๊กว่า “ไม่อยากให้ไวนิลป้ายหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อน #ไว้ใช้ต่อกันเองในทีม”

ดังนั้น ในเมื่อเป็นการทำเอาไว้ใช้กันเองในทีม ไม่ใช่แจกประชาชนเพื่อจูงใจให้เลือกตนเอง จึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดมาตรา 65(1) ครับ

ส่วนในประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่า #ไม่มีการไปแจ้งความคนที่เก็บป้ายไป แสดงว่ามีเจตนาที่จะให้มาตั้งแต่ต้น เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกันครับ เพราะ #ต้องดูเจตนาในตอนที่ทำ ซึ่งได้มีการประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า “ใช้กันเองในทีม” แม้ว่าป้ายหาเสียงจะเป็นทรัพย์สินของผู้สมัคร แต่ที่ผ่านมาการเก็บป้ายหาเสียงหลังเลือกตั้งไปใช้ เช่น เอาไปมุงหลังคา ปูนั่ง บังแดด ฯลฯ ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เคยมีปัญหาอะไร

เพราะเมื่อหาเสียงเสร็จแล้วป้ายหาเสียงก็กลายเป็นขยะหรือของที่ทิ้งหรือไม่ใช้แล้ว การเรียกร้องให้ไป #แจ้งความจับกุมประชาชน ในเรื่องเรื่องนี้ด้วยข้อหาลักทรัพย์ซึ่งมีโทษทางอาญา จึงเป็นเรื่องที่ออกจะเกินไปมาก แล้วจริงๆ ก็ไม่ได้มีกฎหมายตรงไหนเขียนไว้เลยว่าเจ้าทรัพย์มีหน้าที่ต้องไปแจ้งความ

ทั้งนี้ มาตรา 65(1) ของพระราชบัญญัติเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา โดยมาตรา 126 กำหนดโทษจำคุกหนึ่งปีถึง 10 ปี และตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 20 ปี การพิจารณาจึงต้องใช้หลักกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดคือ ต้องดูเรื่องเจตนาในตอนทำป้ายเป็นสำคัญ #การไม่ไปแจ้งความไม่มีผลไปเปลี่ยนเจตนาในตอนทำป้าย ครับ

มีอีกหนึ่งเรื่องที่อยากกล่าวถึงคือ เรื่องการไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้สมัครทั้ง ผู้ว่า กทม. และ ส.ก. หลายคนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 #ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจาก #ประกาศกกต. กำหนดให้เก็บป้ายภายใน 3 หลังเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครจำนวนหนึ่งยังเก็บป้ายไม่หมดจึงผิดมาตรานี้

ผมเข้าใจว่าผู้ที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษอาจจะสับสนระหว่างประกาศกับคำสั่ง ซึ่งไม่เหมือนกัน #ประกาศมีลักษณะให้ปฏิบัติตามเป็นการทั่วไป ส่วน #คำสั่งมีลักษณะเฉพาะเจาะจงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำหรือไม่กระทำการใด การไม่เก็บป้ายให้หมดภายใน 3 วัน เป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศ #ไม่ใช่การขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

เรื่องนี้จะเป็นการขัดคำสั่งได้ ก็ต่อเมื่อ กกต.ออกคำสั่งไปยังผู้สมัครที่ยังเก็บป้ายไม่หมดให้เก็บป้ายให้หมด แล้วผู้สมัครคนใดไม่เก็บป้ายให้หมด นั่นแหละครับถึงจะผิดมาตรานี้

โดยสรุป ผิดหรือไม่ก็ต้องว่าตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่งนักกฎหมายที่ตามเรื่องนี้ก็ล้วนแต่เห็นตรงกันว่า #ป้ายหาเสียงทำกระเป๋าไว้ใช้กันเองในทีมไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ครับ

ด้วยความเคารพ ผมเชื่อว่า กกต.ท่านจะพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และเพื่อที่เหตุการณ์แบบที่เกิดในปี 2562 ที่เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ กกต.ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่สุดท้ายศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องและสั่งให้ กกต.ต้องชดใช้เงินให้กับผู้ชนะการเลือกตั้งถึง 64 ล้านบาท ไม่เกิดขึ้นอีกครับ

อ่านต้นฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน