‘อ.จุฬาฯ’ ยกหลักการ รธน. วิเคราะห์ ปมป้าย ‘ชัชชาติ’ โยงซื้อเสียง ตีความไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน ชี้ประกาศรับรองล่าช้า กระทบสิทธิประชาชน

วันที่ 31 พ.ค.65 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นกรณีร้องเรียน กกต. ในเรื่องป้ายหาเสียงของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ความว่า ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึง “การเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม” (Free and Fair Election) ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะหมายถึงว่า การเลือกตั้งนั้นต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่มีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว

ยังหมายความรวมถึง “ความรวดเร็วในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง” เพื่อให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งสามารถเข้าทำหน้าที่ “ผู้แทนของประชาชน” ได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดอยู่ ซึ่งหลักการนี้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่กฎหมายการเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ เองด้วย

“ความรวดเร็ว” ที่ผมพูดถึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศรับรองผลเลยในวันนี้พรุ่งนี้จนไม่สามารถที่ทำการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งได้เลย

หากแต่ต้องดูว่า “ถ้าเป็นการร้องเรียนที่ไม่ใช่ประเด็นที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญว่าเป็นการซื้อเสียงบิดเบือนเจตจำนงของผู้เลือก” ย่อมไม่มีเหตุผลอันควรตามกฎหมายที่จะประกาศผลล่าช้า (Excessive delay)

อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงของ อ.ชัชชาติ เพื่อโยงไปยังความผิดเกี่ยวกับการซื้อเสียงตาม ม.65 ของกฎหมายเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ตามหลักการแล้วผมเห็นว่าเป็นการตีความที่ “ไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน” (Prima Facie Unreasonableness) ที่จะไปเชื่อมโยงได้ว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

ลองพิจารณาง่ายๆ เลยว่า เป็นไปได้หรือที่ประชาชนจงใจที่จะเลือก หรือเทคะแนนให้ อ.ชัชชาติ เพียงเพื่อที่ต้องการได้ป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋ารีไซเคิล อันเป็นการบิดเบือนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนตั้งแต่แรก? ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อกรณีการร้องเรียนเพื่อกล่าวหาว่า อ.ชัชชาติ ทำการซื้อเสียงมิได้มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อนต่อการพิจารณาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ แต่กลับเห็นได้ชัดเจนง่ายดายว่าหาได้เป็นอย่างที่กล่าวหา ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอหรือเหตุผลใดที่จะเลื่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกไป

อีกทั้ง หากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นแย้งกับที่ผมกล่าวมา ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่สามารถตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งได้ กล่าวคือ หากมีหลักฐานอย่างชัดเจนสามารถบ่งชี้ได้ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องว่า อ.ชัชชาติ กระทำความผิดซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ท่านชนะเลือกตั้งโดยทุจริตจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาได้ และหากศาลท่านเห็นว่าเกิดการทุจริตก็จะทำการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป

ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพึงต้องเข้าใจว่า “ความรวดเร็ว” ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งถือ “เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม” การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ส่วนหนึ่งก็โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งรัดให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศว่างเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเพื่อประชาชน

กรอบระยะเวลาตรงนี้จึงไม่ได้หมายถึงว่าต้องทำให้ครบกำหนดเต็มเวลาหากไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มุมหนึ่งทางกฎหมายหมายถึง การคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยในแง่ที่ว่า “ผู้แทนที่เขาเลือกนั้นจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำหน้าที่ตามที่ได้อาสาเข้ามาทำงานแทนประชาชน”

ด้วยเหตุผลของหลักการทางรัฐธรรมนูญ การประกาศรับรองผลล่าช้าเกินความจำเป็นอย่างไม่สมเหตุสมผลจึงย่อมเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนด้วยนั่นเองครับ

ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน