วุฒิสภา จ่อ เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เน้นปัญหาเศรษฐกิจ-สาธารณสุข ยืนหยัด เป็นที่พึ่งของประชาชน-ร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 มิ.ย. 2565 ที่ห้องประชุมวุฒิสภา มีการจัดสัมมนาในโอกาสครบรอบ 3 ปี วุฒิสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วม ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการสัมมนามีการแสดงดนตรีกวีศิลป์ โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว. และศิลปินแห่งชาติ และนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ

ต่อมาเวลา 14.10 น. นายพรเพชร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาเพื่อประชาชน : กลั่นกรอง ตรวจสอบ ปฏิรูป” ความตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษ ตนเคยได้รับหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งผู้พิพากษา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานวุฒิสภา แต่ในอีกฐานะตนคือประชาชนที่ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับพวกท่าน ผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายในภาวะวิกฤตต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งภาวะวิกฤตในประเทศและต่างประเทศ ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง โรคระบาดโควิด-19 ในรอบ 3 ปีที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

ในส่วนของวุฒิสภานอกเหนือจากการปฏิบัติตามภารกิจหลัก 3 ประการ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ 1.การกลั่นกรองกฎหมายและบุคคล 2.การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และ 3.การปฏิรูปประเทศ วุฒิสภายังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาประเทศ จากการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ เกี่ยวกับการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการเสนอให้ปรับลดงบประมาณของวุฒิสภา เพื่อช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า 2 ปี ต่อจากนี้ วุฒิสภายังต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง ทำให้การทำงานของวุฒิสภาเรื่องการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และปฏิรูป จะได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง สมบูรณ์ เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ดังนั้น วุฒิสภาจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น การขอเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งปัญหาสำคัญของประเทศตอนนี้คือด้านเศรษฐกิจ และด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่วุฒิสภาโดยตรง

ดังนั้น ตนคิดว่าการที่วุฒิสภาจะได้เพิ่มบทบาท ในการให้การบริหารราชการแผ่นดินของครม. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้วุฒิสภาได้มีส่วนร่วม และเมื่อเสนอสิ่งใดไปก็คงได้มีการพัฒนาในส่วนนี้ สุดท้าย ตนและเพื่อนส.ว. ขอยืนหยัดในที่นี้ว่า จะร่วมกันผลักดันให้วุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตนหวังว่าวันนี้จะเป็นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างส.ว. ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป

 

 








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน