“ไพบูลย์” เปิดไทม์ไลน์ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง หลังโหวตผ่านวาระ 3 เชื่อ “กกต.” ยืนยันสูตรหาร 100 คาด ประกาศใช้เดือน พ.ย. ถ้าไม่มีปัญหาต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2565 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกาารเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ว่า จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต่อเนื่อง โดยเหลือมาตราที่ต้องพิจารณาในวาระ 2 อีก 10 มาตรา เริ่มตั้งแต่มาตรา 25 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จ และลงมติวาระ 3 ได้ภายในวันดังกล่าว พร้อมกับเชื่อว่าเสียงของที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเห็นชอบกับเนื้อหา

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไป ประธานรัฐสภาต้องส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็นว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือมีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง กกต. ต้องทำความเห็นส่งให้สภาภายใน 10 วัน เบื้องต้นเชื่อว่า กกต. จะพิจารณาในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 100 คน หาค่าเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ และยืนยันหลักการที่เสนอไว้ตั้งแต่แรกที่ทำเนื้อหาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นเนื้อหาที่กมธ.เสียงข้างมากเห็นชอบด้วย

“เมื่อกกต.ยืนยันเนื้อหา รัฐสภามีหน้าที่ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ว่าจะแก้ไขตามสิ่งที่กกต.ให้ความเห็น หรือยืนยันสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย โดยใช้เสียงข้างมาก ผมเชื่อว่ารัฐสภาจะเปลี่ยนตามที่ กกต. เสนอความเห็น เพราะเป็นมิติทางกฎหมาย จากนั้นรัฐสภาส่งเนื้อหาไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ มีเวลารอไว้ 5 วันก่อนทูลเกล้าฯร่างกฎหมาย โดยช่วงเวลาดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นร่างส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดสูตรคำนวณ ส.ส. ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข โดยเฉพาะประเด็นคำว่าสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง ซึ่งแปลความถึงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้น ในมิติทางกฎหมายจะแปลงไปเป็นจำนวน 500 คน ซึ่งหมายถึงส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนได้เตรียมดำเนินการไว้แล้ว เบื้องต้นจะมีเอกสารประกอบคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญประมาณ 1,000 หน้า

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากเป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา โดยไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จะประกาศใช้เมื่อใด นายไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐสภาโหวตวาระ 3 แล้วแล้วเสร็จในวันที่ 26 ก.ค. จากนั้น ส่งให้กกต.ดำเนินการ คาดว่าจะเป็นต้นเดือนส.ค. และหากไม่มีประเด็นปัญหาที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามคำร้อง คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้ได้ ช่วงเดือน พ.ย. นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน