‘สมชัย’ ประเมิน ส.ส.พปชร. ตัวแปรร่างกม.เลือกตั้งส.ส. เดินหน้าได้หรือไม่ ชี้ ครั้งนี้ไม่มีเหตุให้อ้าง ไล่ ‘บิ๊กป้อม’ พ้นหัวหน้าพรรค หากองค์ประชุมยังล่มอีก

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2565 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะครบกำหนดระยะเวลา 180 วัน ว่า มีประเด็นต้องจับตาว่าจะดำเนินการประชุมได้หรือไม่ หรือจะล่มเหมือนทุกครั้ง และหากดำเนินการได้ การลงมติในวาระ 3 จะเป็นเช่นไร

ยอมรับว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย คงยืนยันในวิธีการที่ไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันจะร่วมประชุมเต็มที่ ดังนั้น คงเหลือเพียงพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นว่าจะมีจุดยืนอย่างไร

“ผมฟังจากการสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่พูดกับลูกพรรคให้ร่วมประชุม แปรความหมายได้ว่า ให้ส.ส.เข้าร่วมประชุม ซึ่งในวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ส.ส.พลังประชารัฐไม่ร่วมประชุม โดยอ้างสาเหตุการไปร่วมงานกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่เพราะเงื่อนไขทางกฎหมาย

ดังนั้น การประชุมรอบนี้ไม่มีสาเหตุที่อ้างว่าไม่เข้าประชุมอีก ผมจึงมั่นใจว่า หากส.ส.พลังประชารัฐเข้าประชุม องค์ประชุมต้องครบและเดินหน้าได้ แต่หากยังมีปัญหาอีก แสดงว่าคำพูดของ พล.อ.ประวิตร ไม่มีความหมาย ไม่สมควรเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ขณะที่ ส.ว. หากพบว่าขาดประชุมต้องรับผิดชอบพอสมควร อย่างไรก็ตาม ตนเห็นความพยายามของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ต้องการให้รัฐสภาทำหน้าที่อย่างถึงที่สุด ไม่ให้เป็นที่ติฉินของประชาชนว่า รัฐสภาไม่ทำงาน แล้วปล่อยกฎหมายตกไป

เมื่อถามว่า เหตุการณ์สภาล่มตอนโหวตรายมาตราร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. สะท้อนจุดยืนของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เอาสูตรหาร 500 ได้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะการตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ทำให้จังหวะพิจารณาเสียไป

นายสมชัย กล่าวต่อว่า หากประธานในที่ประชุมขณะนั้นมีความเฉลียวให้ประชุมต่อโดยไม่ขานชื่อ การประชุมจะดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อให้ขานชื่อทำให้เวลาเสียไป 2 ชม. คนที่ขานชื่อแสดงตนลำดับต้นๆ ออกไปทำภารกิจนอกห้องประชุม แต่เมื่อขานชื่อเสร็จให้กดบัตรลงคะแนนทันที ทำให้กลายเป็นข้อขัดข้องทางเทคนิค

“ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีใครเอาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นอุบัติเหตุจากการไม่เฉลียวของคนทำหน้าที่ประธานที่ประชุมขานชื่อเสร็จให้โหวตต่อทันที ทำให้เป็นปัญหา ทั้งที่ควรแจ้งล่วงหน้าว่าเมื่อขานชื่อแล้วจะให้ลงมติ ขอให้เตรียมความพร้อม” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะหารด้วย 100 หรือ 500 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แบบ ดังนั้น เข้าใจว่าจะไม่เป็นปัญหาในชั้นกกต. แต่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีประเด็นที่สามารถชี้ได้ว่า ทั้ง 2 กรณีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีถ้อยคำของส.ส.พึงมีบัญญัติไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน