ดิเรกฤทธิ์ ย้ำจุดยืนเชื่อ บิ๊กตู่ ครบ 8 ปี เริ่มนับ 9 มิ.ย.62 แนะ ม็อบ รอศาลรธน.ตัดสิน อย่าเพิ่งลงถนน ชี้คำตอบอยู่ในคำสั่งแต่งตั้ง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ส.ค.2565 ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการพูดคุยระหว่างส.ว. Morning Talk เรื่อง“8 ปี ลุงตู่ครบหรือไม่ ไปหรืออยู่” ในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า เมื่อเช้า (22 ส.ค.) พูดคุยในเชิงวิชาการ ซึ่งมี 3 แนวทางคือ 1.จะนับตั้งแต่ปี 2557 2.นับตั้งแต่ปี 2560 และ3.นับตั้งแต่ปี 2562

โดยนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาร่วมพูดคุยเห็นว่า ควรนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งปี 2557 เพราะพิจารณามาตรา 264 ที่ให้นับครม. ที่ทำหน้าที่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย ถือเป็นการนับนายกฯ แบบต่อเนื่อง ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.2565

ส่วนอีกแนวทางที่ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครม.ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ถือเป็นความจำเป็นของประเทศในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญจะต้องรองรับองค์กรที่มีอยู่เดิม เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า การจะนับอายุนายกฯ ต้องนับในวันที่แต่งตั้ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง คำถามคือ ถ้านับตั้งแต่วันแต่งตั้ง จะนับตั้งแต่ปี 2557 หรือปี 2562 ซึ่งเห็นว่าน่าจะนับตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงนำพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกฯทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ และสนช. มีมติเอกฉันท์ให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อาศัยความตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ส่วนพระบรมราชโองการอีกฉบับบอกไว้ชัดว่า ตามมาตรา 158 ที่ให้มีกระบวนการเงื่อนไขโดยที่รัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และให้อยู่ได้ 8 ปี ดังนั้น จึงต้องนับอายุการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ส่วนที่ได้เป็นมาตั้งแต่ระยะเวลาอื่นก่อนหน้าวันที่ 9 มิ.ย. 2562 จึงนับไม่ได้

“ประเทศเราจะให้นาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. เป็นผู้ว่าฯ เป็นผบ.ตร. หรือเป็นนายกฯก็ต้องอยู่ที่คำสั่ง คำสั่งนั้นจะตั้งโดยใคร กฎหมายบอกไว้ จะตั้งโดยเงื่อนไขอะไร และจะออกเมื่อไหร่ อยู่ได้อีกแค่ไหน ทำหน้าที่อย่างไร อยู่ในคำสั่งทั้งนั้น ฉะนั้น ความชัดเจนจึงอยู่ที่คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ถ้าไปอ่าน จะได้คำตอบว่าควรนับอย่างไร” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ส่วนองค์กรที่จะวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เราจะมาทะเลาะกันทำไม ใช้ความรุนแรงและลงถนนทำไม ดังนั้น ต้องเคารพศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

เมื่อถามว่าการชุมนุมในช่วงนี้ จะเป็นการกดดันและมีผลต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็กดดันทุกครั้ง เพราะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ และการเมือง มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งเราเคารพต่อทุกความคิดเห็น แต่ตนเห็นว่าควรอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เมื่อเรามีความเห็น คนอื่นก็มีความเห็น ทั้งนี้ ตนคิดว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถกดดันศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะท่านต้องกล้าหาญและเป็นองค์กรหลักให้บ้านเมืองจึงต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสกดดันใดๆ

ต่อข้อถามว่ากังวลต่อกระแสสังคมนอกสภาหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ควรมีข้อกังวล หรือมีแรงกดดันมามีผลต่อการทำหน้าที่ของส.ส.และส.ว. แต่เราก็มีดุลยพินิจและอิสระในการทำหน้าที่เช่นกัน ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราก็จะนำคำร้องและความต้องการของประชาชนมาพิจารณา เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องลงถนนไปตากแดด

เมื่อถามถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับสามัญสำนึกของพล.อ.ประยุทธ์ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน บางคนบอกว่าเป็นการแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจ ซึ่งมองได้ว่าเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจก็ควรตระหนัก อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเราต้องรักษากติกาบ้านเมือง จึงต้องพิจารณาในแง่ของกฎหมาย บางฝ่ายบอกว่าเป็นการสนับสนุนการผูกขาดอำนาจ แต่บางฝ่ายอาจบอกว่าเราทำให้ท่านมาอยู่ในกติกา

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ถ้าศาลบอกว่าอยู่ไม่ได้ ครบวันที่ 24 ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขาดคุณสมบัติและต้องออกไปอยู่แล้ว แต่หากศาลตัดสินว่าอยู่ได้ เพราะนับตั้งแต่ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 4 ปี ในปี 2566 และประชาชนทั่วประเทศจะเป็นคนตัดสินว่า จะได้อยู่ต่อจนครบ 8 ปีในปี 2570 หรือไม่ ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหา เราควรเดินตามครรลอง ถ้าไม่เคารพกฎหมายและกติกาในอนาคตบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน