พท.ติดตามบริหารจัดการระบายน้ำกทม. จ่อชงจัดงบติดเซ็นเซอร์ประตูระบายน้ำ-คลองทุกสาย หวังควบคุมระดับน้ำและระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 ที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพฯ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานที่ปรึกษาประธานสภากรุงเทพฯ ด้านการเมือง และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) นายวราวุธ ยันต์เจริญ ที่ปรึกษาประธานสภากรุงเทพฯ นายดนุพร ปุณณกันต์ คณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ พรรคพท. นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพฯ พร้อมด้วย ส.ก.พรรคพท.ทั้ง 20 คน และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพท.ร่วมวิเคราะห์และหารือสถานการณ์น้ำกับนายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. และน.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.เพื่อเตรียมตัวและหาทางรับมือจากสถานการณ์น้ำหากมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีนายอาสา สุขขัง ผอ.กองสารสนเทศระบายน้ำ ให้ข้อมูล

นายอาสา ได้แสดงกราฟฟิคภาพปริมาณน้ำฝนและระบบตรวจวัดระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อเฝ้าสังเกตปริมาณน้ำฝน และได้แจ้งถึงจุดที่ กทม. ได้ลิงค์สัญญาณจากกล้องวงจรปิดของสำนักการจราจรและขนส่ง ในจุดที่เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำท่วมตลอดเวลา นอกจากนี้ ทางสนน.ยังระบุช่องทางการแจ้งขอความช่วยเหลือของประชาชนมายัง กทม.ไม่ว่าจะเป็นทางโอเพ่นแชทไลน์ “ฝนตก-น้ำท่วม บอกด้วย” ลิงค์ : https://line.me/ti/g2kk0gLj9CMIhrNYYbCK11EZ_b2QyXZ2429q7BLgutm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default และโทรสายด่วน 02-248-5115 หรือการแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ โดยทางสำนักฯ มีเจ้าหน้าที่สแตนด์บายเพื่อรับข้อมูลที่ประชาชนแจ้งเข้ามาตลอด 24 ชั่วโมง

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า อยากฝากกทม. 3 ประเด็นคือ1.ขอให้ลิงค์ภาพจากกล้องวงจรปิดของสำนักการจราจรและขนส่งในทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะบางจุดที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเห็นปัญหาในทุกจุดได้ 2.มีระบบเอไอเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และระบบการระบายน้ำ ให้สามารถดำเนินการได้ทันท่วงทีจากทุกจุดพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอกำลังคนเพียงอย่างเดียว และ 3.การก่อสร้างถนนต่างระดับและรถไฟฟ้า ควรจะแยกท่อน้ำทิ้งและบ่อพักออกจากกัน เพื่อให้การระบายน้ำบนถนนสามารถระบายได้รวดเร็วขึ้น

ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรดาร์ของสนน.ดีที่สุดในประเทศไทย สามารถแปลผลได้ภายในทุกๆ 5 นาที แต่อุปกรณ์ที่จะไปเชื่อมโยงเอาข้อมูลจากเรดาร์นี้มาใช้เพื่อช่วยระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วมยังไม่ครอบคลุม และยังขาดเซ็นเซอร์บริเวณประตูระบายน้ำทั้ง 200 กว่าจุดและที่คลองต่างๆ เพื่อควบคุมการระบายและควบคุมปริมาณน้ำ ดังนั้นเราควรมีระบบอัตโนมัติเพื่อควบคุมระดับน้ำ และปริมาณน้ำในเบื้องต้นเสริมการทำงานของ กทม. ทั้งนี้ เราจะเสนอให้ผู้บริหารกรุงเทพฯ จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการตรงจุดนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสมบูรณ์ เป็นระบบยิ่งขึ้น ทั้งยังป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน