ดอน หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บิ๊กป้อมส่งวีดีโอประชุม ผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา

วันที่ 18 ก.ย.2565 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-25 ก.ย.นี้

โดยพล.อ.ประวิตรจะกล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดีทัศน์ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit 2022: TES) ในช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ย.นี้ ตามเวลาของนครนิวยอร์ก โดยมุ่งแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของผู้เรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

สำหรับการร่วมประชุมในช่วงผู้แทนระดับสูงซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 ก.ย. ทั้งนี้ นายชอบอ เคอเรอซี ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77 กำหนดหัวข้อของการอภิปรายหลักคือ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง : ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน”

สำหรับนายดอนจะกล่าวถ้อยแถลงของไทยในช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ 1.การเรียกร้องให้ประชาคม ระหว่างประเทศหันมาใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของเยาวชน 2.ขอให้ประชาคมระหว่างประเทศกลับมาให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในค.ศ.2030 และ 3.ขอความร่วมมือให้ประชาคมระหว่างประเทศก้าวข้ามการแบ่งแยกทางการเมืองและสังคมระหว่างกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบพหุภาคี

นอกจากนี้ นายดอนจะกล่าวเปิดงาน Investment in health systems for Universal Health Coverage (UHC) เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสุขอนามัยสำหรับการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และจะเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน รวมถึงร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ อีกทั้งจะหารือกับคณะผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความสำคัญของไทยต่อสหรัฐฯ ตลอดจนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มีพลวัตเชิงบวกต่อเนื่อง ทั้งด้านการค้าและการลงทุน

ด้านนางเอกสิริ ปัณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมยูเอ็นจีเอครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงทั้งหลายกลับมาเดินทางเข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 รวมถึงเป็นช่วงที่นานาประเทศกำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งความพยายามในการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุผล การเผชิญความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ

สำหรับวัตถุประสงค์ของไทยในการไปร่วมประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย 1.เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงของประเทศต่างๆ 2.เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อระบบพหุภาคี ยูเอ็น และย้ำความสำคัญที่ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและการแบ่งแยกทั้งหลาย ให้กลับมารับมือกับความท้าทายต่างๆได้ 3.เพื่อนำเสนอบทบาทของไทยในระบบพหุภาคี ผ่านการมีส่วนร่วมในการหารือต่างๆ การนำเสนอบทบาทของไทยในฐานะประธานการประชุมเอเปคในปีนี้

บทบาทในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการประกาศความตั้งใจของไทยในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ วาระปีค.ศ.2025-2027 (พ.ศ.2568-2570) 4.เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆที่สหรัฐฯจัดขึ้น รวมถึงจะพบกับผู้แทนชุมชนชาวไทยในนครนิวยอร์ก

ขณะเดียวกัน นายดอนจะเข้าร่วมการประชุมคู่ขนานต่างๆที่สำคัญ กว่า 10 รายการ ครอบคลุมประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสาธารณสุขที่ประเทศไทยมีการดำเนินงานที่ดี

อีกทั้งมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการยูเอ็น และรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนระดับสูงของหลายประเทศที่สำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือในสาขาต่างๆ รวมถึงหารือถึงประเด็นเร่งด่วน ขณะที่การหารือทวิภาคีกับรัสเซียอยู่ระหว่างรอการยืนยัน

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน