คณะรัฐมนตรี ไฟเขียว ร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ครอบคลุมทุกมิติ

20 ก.ย. 65 – ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2565-2570

ตามที่ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เสนอ เพื่อให้บริการที่สำคัญของประเทศไทย มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม

โดยร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ เป็นกรอบแนวทางดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ มุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพการป้องกัน รับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมิติการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามและฟื้นฟูระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างทันท่วงที

การจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้ เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 9(1) และมาตรา 9(3) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นโยบายและแผนปฏิบัติการฯ จะใช้เป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย

การพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยกรอบแนวทางดำเนินการจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ

1. สร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Capacity) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นนวัตกรรมของประเทศ

2. บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Partnership) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว








Advertisement

3. สร้างบริการภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ (Resilience)

4. สร้างศักยภาพของหน่วยงานระดับชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (Standard) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากเรื่อง ความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ส่งผลถึงประชาชนแล้วนั้น ตัวชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก 2563 (Global Cybersecurity Index 2020) ที่จัดทำโดย ITU องค์การชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้คะแนนประเทศไทย ค่าชี้วัดรวม 86.50 เป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยมีค่าตัวชี้วัดด้านมาตรการทางกฎหมายของไทย อันเป็นจุดแข็งของประเทศ คือคะแนน 19.11 จาก 20 ซึ่งมีปัจจัยจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ในขณะที่ค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ได้แก่ มาตรการด้านองค์กร มาตรการด้านความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถ และมาตรการทางเทคนิคได้คะแนนลดหลั่นมาคือ 17.64, 17.34, 16.84 และ 15.57 ตามลำดับ

ซึ่งเมื่อมีการจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ และบังคับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการแล้ว จะทำให้คะแนนค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมากขึ้น อันจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ เสถียรภาพความมั่นคงทางไซเบอร์ สุดท้ายจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจและประเทศในทางที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน