ก้าวไกล แนะใช้ Cell Broadcasting แจ้งเหตุภัยพิบัติผ่านมือถือประชาชนโดยตรง ชี้ ทันสมัยกว่าทรานซิสเตอร์ หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการแจ้งเตือนประชาชนถึงภัยพิบัติอุทกภัย ว่า วิทยุทรานซิสเตอร์อาจใช้ได้ในบางกรณี แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าคือ Cell Broadcasting ใช้ส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยพิบัติถึงโทรศัพท์มือถือประชาชนโดยตรง

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นยามภัยพิบัติรุนแรง โดยในต่างประเทศมักใช้ในกรณีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้การไม่ได้ แต่สถานการณ์ภัยบิบัติของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงถึงขั้นนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีรายงานจาก กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงพื้นที่ที่น้ำท่วมรุนแรงมากจนถึงขนาดสัญญาณโทรศัทพ์ถูกตัดขาด

“ถ้าเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โทรศัพท์ของทุกคนดังขึ้นมาพร้อมกัน นั่นคือการเตือนภัยพิบัติ สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่เรียกว่า Cell Broadcasting” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า Cell Broadcasting คือ ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว มีข้อดีคือ หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชน โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ สามารถเจาะจงพื้นที่ได้ โดยมีความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งยังไม่กระทบกับการสื่อสารปกติ เพราะใช้คนละช่องสัญญาณกับโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นเพิ่มเติม และรองรับการให้บริการครบ ทั้งคลื่นความถี่ 2G, 3G, 4G, 5G สามารถรับประกันได้ว่าข้อความจะไปถึงทุกคน ไม่ว่าโทรศัพท์จะรุ่นเก่าหรือใหม่

“นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ล้ำสมัย เพราะมีมานานแล้ว และสามารถนำมาใช้ได้แล้ว แต่ 8 ปีที่ผ่านมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ผ่านภัยพิบัติมาครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่เคยผลักดันระบบ Cell Broadcast มาใช้เพื่อเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชนเลย หากเพียงแค่ให้ กสทช.หารือกับผู้ให้บริการทุกราย ให้หาหน่วยงานเจ้าภาพในการประสานระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกับทุกหน่วยงานทั่วประเทศ หากเกิดภัยพิบัติประชาชนก็จะสามารถอพยพได้อย่างทันท่วงที ป้องกันการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน