เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2565 ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาพิเศษ ถอดบทเรียน กราดยิงหนองบัวลำภู ร่วมหาทางออกด้วยกัน….. ร่วมเสวนาโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข น.ส.วทันยา บุนนาค และน.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ในประเทศไทยตอนนี้มีผู้ที่ติด และเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3 ล้านคน ถ้าเราคิดเฉลี่ยว่าวันหนึ่งๆจะมีการใช้ยาเสพติดวันละ 3 ล้าน และคิดต่ออีกว่าถ้าเราต้องดูและ บำบัดผู้ที่ติดยานั้นคิดเป็นเงินมูลค่าเป็นแสนล้านบาท ปีหนึ่งๆเราต้องสูญเงินเพื่อใช้ในส่วนนี้ ซึ่งเราสามาถนำเงินแสนล้านนี้ไปช่วยพัฒนาประเทศหรือทำงานด้านอื่นได้ถ้าเราลดผู้ที่เสพติดยาได้ และ 80% ของคดีอาชญากรรมนั้นมาจากปัญหายาเสพติดทั้งสิ้น อีกทั้งแนวโน้มการเสพยายังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ฉะนั้นแล้วปัญหายาสพติดจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยในกรุงเทพฯถือเป็นแหล่งจำหน่ายยาที่ใหญ่ที่สุด ส่วนบริเวณโดยรอบของกรุงเทพฯเป็นแหล่งพักยา และประเทศเพื่อนบ้านกับภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตยา

การที่ทุกวันนี้เราเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายเพราะมีราคาที่ถูกมาก และงานป้องกันและปราบปรามยาของเราอ่อนมาก ไม่มีการเอาจริงเอาจังที่จะปราบปราม เรื่องการปราบปรามยาเสพติดนั้นไม่ใช่เป็นแค่งานของเจ้าหน้ที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การลักลอบนำเข้ามาในประเทศ และที่ปราบปรามกันไม่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่หลับหูหลับตา ยักคิ้วหลิ่วตา ไม่เอาจริงเอาจัง หรือปราบปรามแบบผักชีโรยหน้า และต้องบอกว่ายาเสพติดไม่ได้มีแค่ยาบ้า แต่มีหลายอย่าง และที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือกัญชา อีกทั้งการแก้กฎหมายยังไปเอื้อประโยชน์ให้คนเสพที่ให้เป็นผู้ป่วย ไม่ทราบว่าจะแก้กฎหมายไปทำไม และคนที่แก้ก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องยาเสพติดนี้เลย จึงทำให้ปัญหาเรื่องยาเสพติดนี้แก้ไม่ได้สักที

ด้านน.ส.ศิริภา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจจึงมีทักษะในการใช้อาวุธ และการที่ตรวจร่างกายแล้วไม่พบสารเสพติดนั้น ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติด เพราะอดีตผู้ก่อเหตุเคยใช้ยามา ส่วนการแก้กฎหมายเรื่องยาเสพติดตนมองว่าอาจจะเป็นเรื่องดี แต่ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไป ส่วนเรื่องอาวุธปืนนั้นการที่บุคคลธรรมดาจะขออนุญาตครอบครองได้ต้องมีการขอใบอนุญาต แบบป.1 ป.2 ป.3 ซึ่งบุคคลธรรมดาจะไม่ได้รับอนุญาต ต้องเป็นเจ้าหน้ที่ตำรวจ แต่การออกใบอนุญาตแบบป.3 ป.4 ของไทยก่อนที่จะไปซื้อปืนเราต้องไปพบแพทย์แล้วมีการรับรองว่าบุคคลนั้นสภาพร่างกาย และจิตใจปกติ ไม่มีอาการวิกลจริต แต่นั่นเป็นการไปหาหมอเพียงครั้งเดียว ตรวจแล้วก็ซื้อปืนได้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าอาการวิกลจริตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าเราจะจัดให้มีการส่งผลตรวจสภาพจิตใจทุกๆปีสำหรับผู้ที่มีอาวุธปืนครอบครองน่าจะเป็นเรื่องที่สมเหตุผลดี

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ตนในฐานะประชาชนและเป็นคุณแม่เมื่อทราบเหตุการณ์นี้แล้วรู้สึกคิดถึงลูก เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตว่า 30 ชีวิตและเป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไร เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามกับสังคมไทยว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เราป่วยกันหรือเปล่า ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขนาดนี้ และเป็นเหตุการณ์ที่ใครก็ไม่คาดคิดมาก่อน หรือจริงๆแล้วเราได้เริ่มที่จะแก้ไขมันจริงๆหรือไม่กับการเกิดโศกนาฏกรรม ที่ผ่านมาเราพูดถึงการแก้กฎหมาย เรื่องอาวุธปืน เรื่องโครงสร้างปัญหาจิตเวช โครงสร้างระบบข้าราชการทหาร ตำรวจ และที่ผ่านมาเราถกปัญหาความรุนแรงมากมา แต่ทำไมปัญหานี้กลับไม่ได้ลดลง และยังทวีความรุนแรงมากขึ้น

เวลาที่เกิดเหตุความรุนแรง เรามักจะพูดว่าต้องเพิ่มบทลงโทษด้านกฎหมาย แต่อีกมุมทุกคนมองว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วตนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป แต่อย่างที่บอกการเพิ่มโทษให้หนักแค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่จะอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนเราเองสามารถเริ่มต้นได้ด้วยสถาบันครอบครัว ชุมชนที่อยู่ ซึ่งสิ่งที่เราเริ่มต้นได้เลยโดยไม่ต้องรอระบบโครงสร้างหรือการแก้ไขกฎหมาย คือ ทำสถาบันครอบครัวให้แข็งแรง และไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่อยู่ข้างหน้าเรา

ส่วนนพ.วรตม์ กล่าวว่า เรื่องสุขภาพจินหลายคนมองว่าเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต งานสาธารณสุข ถ้ามองแบบนั้นจะไปติดตรงจำนวนบุคลากร ซึ่งจริงๆแล้วทุกคนสามารถเป็นบุคลากรทางจิตได้ แค่เริ่มต้นสนใจคนที่อยู่ข้างๆ รับฟังเขา หลายครั้งที่คนที่ก่อเหตุความรุนแรงใหญ่ๆเขาได้ก่อเหตุความรุนแรงเล็กๆมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่แค่ไม่เคยมีใครหยุดเขา ทำให้เหจุการณ์นี้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะเกิดเหตุแบบนี้อีก เชื่อว่าหลายคนพูดถึงงานเชิงนโยบาย ให้เพิ่มบุคลากรทางด้านจิต หรือพูดถึงการครอบครองอาวุธปืน เรื่องยาเสพติด แต่ตอนนี้สังคมต้องการคนที่ขยับได้ นั่นจึงจะเริ่มมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง

ในแง่การเยียวยาจิตใจของผู้ที่สูญเสียโดยตรงเชื่อว่าได้รับการดูแล้วแล้ว แต่ในแง่ของผู้ที่เฝ้าติดตามข่าวสารนี้ เชื่อว่าผู้ที่รู้สึกโศกเศร้า เครียดนั้นยังเป็นเรื่องที่ปกติ เพราะคนเรามีความรู้สึก มีหัวใจ แต่ถ้าผ่านไป 2-3 วันแล้วไม่ได้ติดตามข่าวนี้ แต่ยังรู้สึกมีอารณ์ร่วมอยู่นั้นอาจเป็นจุดที่บอกว่าเราเริ่มผิดปกติแล้ว ฉะนั้นเมื่อเรารู้สึกรับไม่ได้กับสถานกณ์นี้ให้เราออกมา หยุดติดตามข่าวนี้ ต้องมูฟออนให้ได้ แต่เราควรต้องเรียนรู้กับครอบครัวเราว่าถ้าเกิดเหตุการณ์การเช่นนี้เราจะบอกหรือสอนคนในครอบครัวให้เอาตัวรอดหรือต้องทำอย่างไรได้บ้าง และสิ่งที่อันตรายเวลาดูความรุนแรงคือการเคยชินกับความรุนแรง นี่คือสิ่งที่เรากลัว จึงอยากบอกว่าเวลาจะนำเสนอ อย่าเสนอแต่เฉพาะด้านความรุนแรง ให้เสนอองค์ความรู้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนเฉยชาต่อความรุนแรง และจะทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยๆครั้ง

“ส่วนจะทำอย่างไรให้คนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจเปลี่ยนแปลงความคิดแล้วยอมไปพบจิตแพทย์นั้น ต้องบอกว่าจิตแพทย์ไม่อยากรักษาคนป่วย เราอยากรักษาคนที่จะก่อนป่วย แค่คุณเครียดมีความผิดปกติให้มารักษา อย่าปล่อยให้ถึงขั้นเกิดความสูญเสีย ถ้าคนไทยสามารถมองเรื่องปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ใช่แค่โลกจิตเวชแต่เป็นปัญหาเริ่มตั้งแต่ความเครียด การควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ อยากให้มาหาจิตแพทย์ มาคุยกัน คุยเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เหมือนในต่างประเทศที่เวลาวัยรุ่นมีจิตแพทย์ประจำตัวเขาจะรู้สึกว่าเขาเท่ เขารู้สึกดีมากๆเหมือนมีใครบางคนอยู่ข้างๆคอยให้คำปรึกษา ถ้าเกิดวันหนึ่งเราพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้วันนั้นจะเป็นวันที่ปัญหาสุขภาพจิตลดน้อยลง”นพ.วรตม์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน