วันที่ 30 ม.ค. นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตสปช. และอดีตสปท. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เผยว่า สื่อมวลชนเสนอข่าวกรณีป.ป.ช. อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหลายเรือนที่สวมใส่บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ต่อมา นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล” ได้ทำโพล เรื่อง สำรวจความคิดเห็นจากประชาชน 4 คำถามดังนี้ 1. เพื่อนสนิทเคยให้ยืมนาฬิกาหรูหรือไม่ 2. ผู้ถือครองนาฬิกาบอกว่าเพื่อนให้ยืมมา คิดว่าพูดจริงหรือไม่ 3.คิดว่าคนที่พูดโกหกมีแนวโน้มทุจริตหรือไม่ 4.รับได้หรือไม่ที่รุ่นน้องช่วยรุ่นพี่ปกปิดเรื่องดังกล่าว

นายบัญชาระบุ การที่นายอานนท์จัดทำโพล 4 ข้อ ดังกล่าวแม้ไม่ได้ระบุชื่อพล.อ.ประวิตร แต่ประชาชนเข้าใจได้ทันทีว่ามุ่งประสงค์หมายถึงพล.อ.ประวิตร เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช. การออกมาทำโพลอาจนำไปสู่ประเด็นขัดแย้งทางการเมือง เป็นการชี้นำประชาชน สร้างแรงกดดันการทำงานของ ป.ป.ช. ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน สร้างความแตกแยกในสังคม การจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต้องคำนึงถึงความเป็นกลางปราศจากอคติใดๆ และในช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่เจาะจงไปที่ตัวบุคคล เพราะจะมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบุคคลดังกล่าว

ประกอบกับขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดที่ 3 มาตรา 32 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง…….. การกระทำอันเป็นการละเมิด หรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล….. หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในการใดๆ จะกระทำไม่ได้ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ละเมิด มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย…..แก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างไร….ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” บุคคลที่ทำโพลควรคำนึงถึงประชาชน เพราะอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้รับความเดือดร้อนจากการแสดงความเห็นจากคำถามในโพล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน