สมศักดิ์ โต้พัลวัน ข่าวพ่อค้ายาในเรือนจำ ยันกฎหมายแรง เล็งใช้กำไลอีเอ็มผู้ติดยาขั้นโรคจิต เผยผู้ป่วยรุนแรง รักษาแล้วกลับไปเสพซ้ำ 70% ชี้ติดตามดูแลครบวงจร

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 12 ต.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงภายหลังการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ถึงเสียงวิจารณ์มีผู้ค้ายาอยู่ในเรือนจำว่า ตนยังไม่เห็นมีใครแจ้งให้ตนทราบสักคน วันนี้เราติดตามและดำเนินการเรื่องนี้อยู่

ยืนยันว่าเรื่องผู้ค้ายาเสพติดอยู่ในเรือนจำนั้น เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผู้คุมต่างๆ ในเรือนจำมีสิทธิได้รางวัลการนำจับ มีเรื่องยึดทรัพย์สิน อีกทั้งกฎหมายยึดสินทรัพย์ สามารถย้อนหลังได้เป็นสิบปี ใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะถูกตรวจสอบอย่างรุนแรง ตรงนี้ถ้าผู้ค้ายาเสพติดยังอยู่ได้ตนเชื่อมั่นว่ามันผิดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายขับเคลื่อนเต็มที่

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่ายาเสพติดมีมากในทุกหมู่บ้านนั้น ในข้อเท็จจริงประเทศไทยมี 8 หมื่นกว่าหมู่บ้าน แต่มีคนแจ้งผ่านเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 1386 เพียง 1.6 หมื่นสายเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก อาจเกิดจากหมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้เดือดร้อน หรือเดือดร้อนแต่ไม่กล้าแจ้งเบาะแส เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย วันนี้ได้สร้างกลไกที่จะปกปิดผู้ให้เบาะแส ที่จะนำมาใช้ได้ใน 2-3 เดือน

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องการยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น เวลาเรายึดและอายัดทรัพย์สินได้ จะส่งเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอแนะว่าเงินที่ได้นี้ จะแยกส่วนหนึ่งไปใช้ในเรื่องการฟื้นฟู ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลได้หรือไม่

ส่วนผู้ติดยาเสพติดที่เข้าขั้นโรคจิตนั้น มีการเสนอให้ใช้กำไลอีเอ็มเพื่อกำกับบริเวณ และปกติ หากศาลสั่งให้บำบัดจะต้องส่งเข้าสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจะเพิ่มเรื่องการใช้กำไลอีเอ็มเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องไปทำระเบียบและขออำนาจศาลสั่ง

นอกจากนี้ในที่ประชุมมีการรายงานว่าวันนี้สารตั้งต้นยาเสพติดราคาถูกมาก ไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท แต่สามารถผลิตยาบ้าได้เป็นหมื่นๆ เม็ด แต่เรามั่นใจว่าจะแก้ไขได้

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดแล้วเมื่อออกมากลับมาเสพยาอีกว่า ผู้ติดยาเสพติด ถือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และมีโอกาสกลับไปติดซ้ำค่อนข้างสูง โดยระบบการรักษาของสาธารณสุขจะมีศูนย์คัดกรองในทุกตำบล ซึ่งเราจะแบ่งระดับผู้ป่วย ถ้ามีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยสีแดงจะรักษาในโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจิต และศูนย์บำบัดรักษาโดยเฉพาะ








Advertisement

ผู้ป่วยตรงกลางที่มีอาการติดแต่ไม่รุนแรงแรง จะรักษาในโรงพยาบาลชุมชนแบบผู้ป่วยโอพีดี หรือผู้ป่วยใน และมีระบบติดตาม ส่วนคนที่มีอาการน้อยหรือใช้ไม่มากนักจะรักษาในชุมชน ซึ่งจะมีกระบวนการและระยะเวลาในการรักษา ทั้งนี้ ในเชิงวิชาการทั่วโลกผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ป่วยเรื้อรังเมื่อได้รับการรักษาครบกระบวนการ ผ่านไป 1 ปี มีโอกาสกลับไปเสพใหม่ 70 %

ฉะนั้น ในระบบสุดท้ายคือการรักษาในชุมชน เพื่อฟื้นฟู เพราะถ้าผู้ป่วยรักษาแล้วสภาวะแวดล้อมยังเหมือนเดิม พฤติกรรมไม่เปลี่ยน ก็จะกลับมาเหมือนเดิม เราจึงต้องดูแลครบวงจร เพราะผู้ป่วยสีแดงที่หายแล้วอาจมีสภาพทางสมอง ทางจิตใจ เราจึงต้องติดตามกัน หัวใจของการดูแลเรื่องนี้คือต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้องและชุมชน ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รับงบดูแลเรื่องนี้ 200 ล้านบาท และปีนี้ได้ 400 ล้านบาท เป็นโอกาสดีที่จะมีเงินมาเพิ่มระบบการรักษาได้ครอบคลุมมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน