วิษณุ ให้รอฟัง ศาลรัฐธรรมนูญ ปมกม.ลูก ชี้ทางออก กกต.-รัฐบาล-รัฐสภา ต้องถกร่วมกัน เชื่อใช้วิธีออกพ.ร.ก. ทำทัน ไม่ฟันธงจะเกิดสุญญากาศก่อนเลือกตั้งหรือไม่

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งรับ เพราะไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร และการตั้งรับเป็นภาระรับผิดชอบของหลายฝ่าย ทั้งกกต. รัฐบาล และสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาถ้ามันมีปัญหา แต่ถ้าไม่มีปัญหาก็แล้วไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร

ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญอาจขัดแย้งกันเองนั้น ต้องรอฟังศาลว่าศาลจะชี้อย่างไร หากบอกว่าแย้งกันเองก็ต้องหาทาง

เมื่อถามว่ากรอบเวลาที่เหลือของรัฐบาล หากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เรายังแก้กฎหมายกันทันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่เราจะแก้ด้วยวิธีใด หากแก้ด้วยการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ถ้าร่วมมือกันเร่ง ก็คงจะได้ เพราะสภาเปิดสมัยประชุมถึงปลายเดือนก.พ. 2566 และเข้าที่ประชุมรัฐสภา หากไม่มีใครดึงให้ช้า มันก็ไปได้ อีกทั้งสภาหมดวาระถึง 22 มี.ค.2566 ยังสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้

เมื่อถามว่าถึงอย่างไรการเลือกตั้งจะไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. 2566 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าเป็นวันที่ 7 พ.ค. วันดังกล่าวเป็นกรอบที่กกต.กำหนด ซึ่งกรอบเลือกตั้งจะเป็นไปตามกฏหมาย

เมื่อถามว่าถึงที่สุดแล้วจะไม่เกิดสุญญากาศของการไม่มีกฎหมายในการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น ผมไม่กล้าจะตอบแบบนั้น เพราะไม่รู้ว่าศาลจะบอกว่า กฎหมายจะใช้ได้หรือไม่ได้ในประเด็นใด เรื่องใด มากหรือน้อย”

เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ในทุกกรณีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีทางหนีทีไล่ เพราะไม่รู้ว่าจะเตรียมอย่างไร คงต้องรอศาลออกมาก่อน และเชื่อว่าทางหนีทีไล่ ศาลจะแนะนำมาให้ด้วย เหมือนในบางคดี ศาลเองก็ไม่อยากเหนื่อยหลายหนเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างนี้นายวิษณุได้หารือกับกกต.บ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้หารือ เมื่อศาลตัดสินมา ทั้ง 3 ฝ่ายคงต้องคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้หากนายกฯ จะลงพื้นที่หาเสียง ต้องใช้เวลานอกราชการใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากใช้คำว่าหาเสียง ก็ต้องใช้นอกเวลาราชการ ถ้าไปทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตรวจน้ำท่วม ไฟไหม้ เยี่ยมประชาชน เราไม่เรียกว่าหาเสียง และวิธีการแยกนั้น สามารถดูรู้ทั้งนั้น และที่ผ่านมา นายกฯไม่เคยหารือกับตน เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองหลังเอเปค อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าไทม์ไลน์เรื่องการยุบสภาจะเกิดขึ้นในจังหวะใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน