พรรคพลังประชารัฐ หวังศษลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ผ่านร่างกฎหมายลูก ทั้งพรรคการเมือง-เลือกตั้งส.ส. หวั่นเกิดสุญญากาศ หากถูกตีตก

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 23 พ.ย. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวันที่ 30 พ.ย.ว่า หากร่างกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งมีประเด็นเรื่องไพรมารี่โหวตถูกตีตก จะมีผลทำให้พรรคการเมืองเกิดความยุ่งยาก ที่จะต้องทำทุกเขต

แต่ถ้ากฎหมายผ่าน จะเกิดความสะดวก เพราะจะทำไพรมารี่โหวตที่เขตจังหวัดเพียงเขตเดียว และสะดวกกับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คิดว่าทุกพรรค สามารถปรับทำงานได้

นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 หรือ 500 หากดูจากแนวทางการดำเนินการของวิปรัฐบาล หรือคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง คิดว่าถ้าใช้สูตรคำนวณ หารด้วย 100 จะตรงกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุด ถ้าใช้วิธีหาร 500 สัดส่วนส.ส.ที่ออกมา จะไม่เป็นไปตามที่ควรจะต้องเป็น เพราะจำนวนคนอาจมีความลักลั่น

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาแล้วมีปัญหา มีความจำเป็นที่เสนอร่างเข้าไปสู่รัฐสภาใหม่ และไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำได้ทันหรือไม่ เนื่องจากมีกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หากจะทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปแล้ว กฎหมายลูกก็จำเป็นต้องสอดรับกับรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้น กระบวนการที่จะนำไปสู่การออกข้อบัญญัติ ข้อกำหนด และระเบียบ กกต.จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย และก่อให้เกิดปัญหาเป็นสุญญากาศ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อห่วงใยของทุกพรรค ไม่ใช่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกฎหมายลูกถูกตีตก จะมีแนวทางรับมืออย่างไร นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า หากถูกตีตกไป ก็ต้องยื่นร่างเสนอเข้าไปใหม่ให้เร็วที่สุด โดยกระบวนการจะประมาณ 3 เดือนเศษ หากทุกพรรคร่วมกันยื่นร่างที่เป็นแนวทางตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะสอดคล้องกันทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะต้องรีบเร่งพิจารณาในชั้นรับหลักการ เมื่อเสร็จ ก็รีบในชั้นกรรมาธิการและนำกลับเข้าสภา และยังต้องมีเวลาว่าต้องเว้นไว้อีกกี่วัน หากทำกระบวนการให้เสร็จในรัฐสภา จะทำให้ปัญหาน้อยลง เมื่อถึงขั้นตอนที่ส่งไปยังครม. ก็ไม่มีผลกระทบต่อกฏหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าหากเกิดสุญญากาศตามที่มีข้อกังวล จะส่งผลอะไรตามมาได้บ้าง นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ฝ่ายบริหารต้องเข้าไปช่วยกกต. ออกกฏหมายพิเศษ หรือออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ที่จะต้องดำเนินการเพื่อทำให้สุญญากาศหายไป เพราะหากปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถเลือกตั้งได้เลย ไม่สามารถเดินต่อในทางประชาธิปไตยได้ ไม่ใช่หนทางที่ดี

ถ้าถึงที่สุดจริงๆ รัฐบาลต้องมีส่วนช่วยเรื่องกติกา หรือถ้าตกลงว่าเป็นอำนาจของกกต. ทางกกต.ก็ต้องกล้าดำเนินการ เพราะรัฐธรรมนูญได้ออกไปแล้ว และต้องยึดเอารัฐธรรมนูญเป็นหลัก ในการให้กกต.ออกระเบียบให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อถามว่าประเมินแล้วคิดว่าแนวโน้มน่าจะออกมาในทางที่ดีหรือไม่ นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า ใช่ หากแก้ไขได้ ถ้าร่วมมือกัน เอาการเมืองมาเป็นกรอบในการกีดกั้น คิดว่าบ้านเมืองจะเดินไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน