เด็กยิ้มกริ่ม มีความสุขสมบูรณ์ ถึงขั้นเฮลั่น หลังครม.เห็นชอบ ปรับเพิ่มราคากลางจำหน่ายผลิตนมโรงเรียน อีก 31 สตางค์ ตามต้นทุนที่สูงขึ้น

วันที่ 6 ธ.ค.2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม หรือนมโรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 31 สตางค์ มีผลตั้งแต่วันที่ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป

โดยแบ่งเป็นนมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ ราคากลางเดิม 6.58 บาทต่อถุง เป็น 6.89 บาทต่อถุง นมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที ราคากลางเดิม 7.82 บาทต่อกล่อง เป็น 8.13 บาทต่อกล่อง

สำหรับการปรับราคาครั้งนี้ เนื่องจากครม.เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรับราคารับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.5 บาทต่อกิโลกรัม ตามต้นทุนการผลิตน้ำนมโคที่เพิ่มขึ้นจากค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤตพลังงานสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุน การผลิตนมโรงเรียนในส่วนของค่าน้ำนมโคเพิ่มขึ้น

ดังนั้นการคํานวณราคากลางนมโรงเรียนใหม่ยังสอดคล้องกับแนวทางการอนุญาตปรับราคานมพาณิชย์ ของกรมการค้าภายในที่อนุญาตให้ปรับราคาเฉพาะต้นทุนน้ำนมดิบน้ำนมโค 1 กก. สามารถนําไปผลิตนมโรงเรียนได้ประมาณ 5 ต่อถุงต่อกล่อง ปริมาณ 200 กิโลกรัม ต่อถุงต่อกล่อง ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.31 บาทต่อถุงต่อกล่อง

นายอนุชา กล่าวว่า มติคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้เห็นชอบการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนดังกล่าวแล้ว และสําหรับ ภาคเรียนที่ 2/65 เดือน พ.ย. 65 – มี.ค. 66 และภาคเรียนที่ 1/66 เดือน พ.ค. 66 – ก.ย. 66 ในกรณีที่มีการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียน ในส่วนงบประมาณ สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน สำหรับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักปลัด กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จะมีภาระงบประมาณในปี 2566 เพิ่มขึ้นภาพรวม 301,539,100 บาท








Advertisement

ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า การปรับเพิ่มราคากลางจําหน่ายนมโรงเรียนดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อนมโรงเรียนในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนเอกชน ยังมีงบประมาณเพียงพอสําหรับบริหารจัดการ จําหน่ายนมโรงเรียนในครั้งนี้ เนื่องจากมีจํานวนนักเรียนน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงขอตั้งงบประมาณปี 2566

ยกเว้น โรงเรียนในสังกัด กทม. และเมืองพัทยา ที่มีกรอบงบประมาณ ไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้ ปรับแผนปฏิบัติการหรือใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการก่อน หากยังไม่ เพียงพอ จึงให้เสนอของบกลางจากสำนักงบประมาณต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการอาหารเสริม หรือนมโรงเรียน เป็นนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2535เพื่อแก้ปัญหาขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุน อุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศในการผลิต

ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการฯครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา และจัดสรรนมโรงเรียนให้นักเรียนเป็นเวลา 260 วัน ต่อปีการศึกษา และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ นมโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรียังสนับสนุนให้เด็กไทยได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกายเจริญเติบโตอย่างเต็มที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน