โดนคืนบ้าง! ‘ทนายดัง’ แจ้งความ ‘ศรีสุวรรณ’ เอาผิด ร้องเท็จ กกต. ปมยื่นยุบเพื่อไทย ปมค่าแรง 600 บาท ใส่ร้าย ‘ทักษิณ’ ครอบงำพรรค

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ธ.ค.65 ที่ สน.ทุ่งสองห้อง นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) พร้อมทีมงาน เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา จากกรณีที่ นายศรีสุวรรณ เป็นผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใด ว่ากระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อันเป็นความเท็จต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยน่าเชื่อว่ามีเจตนาพิเศษกลั่นแกล้ง กล่าวหาพรรคเพื่อไทย (พท.) และ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในลักษณะน่าจะเป็นการจงใจใส่ร้าย กล่าวหาว่ามีการกระทำผิดกฎหมายโดยมิได้ตรวจสอบให้ดี หรือมิได้มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำของพรรคพท.และนายทักษิณกระทำการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคพท.จริง

นายวิญญัติ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่รับรู้กันทั่วไปว่าพรรคพท.ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันในปี 2570 ต่อสาธารณะเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ต่อมามีบุคคลต่างๆ หรือพรรคการเมืองอื่น ก็ต่างมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับนายทักษิณ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังมีการประกาศนโยบายนั้นแล้ว แต่นายศรีสุวรรณกลับนำมาเป็นพฤติการณ์เพื่อนำไปเชื่อมโยงให้เข้าลักษณะว่าเป็นการครอบงำ ชี้นำพรรคพท.

โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ การกระทำของนายศรีสุวรรณจึงน่าจะเป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิดฐานแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมือง หรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 101 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และข้อหาฐานเป็นผู้รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

นายวิญญัติ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอันเป็นเสรีภาพแก่บุคคลจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปิดโอกาสในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงมีพรรคการเมืองหลากหลายที่มาจากการสนับสนุนของประชาชน นี่คือสิ่งที่ต้องรักษาตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ไม่ใช่จะหาเรื่องยุบพรรคการเมือง ทำลายหลักการประชาธิปไตย หรือใช้สิทธิใดๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมาทำลายพรรคการเมือง บุุคคลต้องเคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่ต้องการให้พรรคที่ตนสนับสนุนได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง มีการแข่งขันกันที่นโยบายของแต่ละพรรค และบุคคลที่เสนอตัวลงเลือกตั้ง และไปวัดกันด้วยการพิสูจน์ผลงาน จึงไม่ควรใช้กระบวนการใดๆ มาทำลายพรรคการเมืองด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผลอีก ตนจึงมาแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน