เสรี ยอมรับ ส.ว. แบ่งข้าง ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ จริง ลั่นเก่งดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่สร้างความดีก็ไม่ง่าย เชื่อสุดท้ายเสียง ส.ว.ไม่แตก

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวแบ่งฝั่งของ ส.ว. เลือกหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯว่า ยอมรับว่า ส.ว.มีการแบ่งเป็น 2 ฝั่งจริง และส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช.มีผู้ใหญ่หลายคน ฉะนั้น การเสนอชื่อในการเลือกนายกฯ ไม่ได้มาจากคนๆเดียว ขณะนี้อาจมีแนวทางความเห็นหลายกลุ่ม หลายพวก แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด จะมีเสียงแตกออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายเสรี กล่าวว่า โดยรวมส่วนใหญ่วุฒิสภาจะต้องเอาประเทศ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การจะเลือกใครเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว. ดังนั้น ต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากเสนอคนดีเข้ามา ก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริต เล่นการเมือง ไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ ย้ำว่าส่วนใหญ่ ส.ว.จะเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีการแข่งกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เมื่อเป็นพรรคแยกกันแล้ว อย่างไรก็แข่งกันทำงาน แต่เวลาแข่งกันแล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะเอาฝ่ายการเมืองของแต่ละพื้นที่มาอยู่ที่พรรคตนเองได้มากน้อยแค่ไหน

“คนเก่งอย่างไร คนดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่มีพรรคพวก ไม่เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ดังนั้น เมื่อแยกกันเดินแล้ว แต่ละคนต้องหาคนที่มีคะแนนเสียงมาอยู่กับพรรคของตนเอง ขึ้นอยู่ว่ามากน้อยแค่ไหน และวิธีไหน และนั่นคือคำตอบว่าพรรคไหนได้คะแนนมากแค่ไหน” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวยอมรับว่า บางพรรคมีนโยบายดี ประชาชนสนใจก็จะได้คะแนน แต่หากเสนอประเด็นสร้างความแตกแยก ปฏิรูปสถาบัน โดยไม่ดูว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร ตนคิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน ดังนั้น แต่ละพรรค ต้องมีกลยุทธ์และทิศทางของตนเอง เพื่อซื้อใจ ซื้อเสียงของประชาชนด้วยผลงานและนโยบายของตนเอง

นายเสรี กล่าวด้วยว่า จากการที่ ส.ว.ลงไปสังเกตการณ์ การเลือกตั้งซ่อมแต่ละครั้งมีการใช้เงินจำนวนมาก แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ประชาชนไม่กล้าเป็นพยาน มองว่ามีโอกาสสูงที่จะใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายว่าจะทำอย่างไร

“ไปๆมาๆ คนที่กล้าซื้อเสียง กล้าทำผิดกฎหมาย สุดท้ายชนะทุกที ต้องกลับมาดูกฎหมาย เพราะกฎหมายผิดทั้งคนให้และคนรับ จึงไม่มีใครกล้าแสดงตัวออกมาเป็นพยาน ผมจึงเสนอว่าผู้ซื้อเสียงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่รับเงินถือว่าไม่ผิดกฎหมาย จึงจะทำให้มีหลักฐานเอาผิดคนที่ซื้อเสียงได้ แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ เพราะมองว่าเมืองไทยเก่งที่สร้างกลไกในการเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้” นายเสรี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน