‘คริส’ ร่ายยาวหลังลาออก ‘ก้าวไกล’ ซัดอนาคตคงไม่ต่างจาก พรรคที่ดีแต่พูด แฉเรื่องสำคัญภายในแต่มีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ที่มีสิทธิตัดสินใจ

8 ก.พ. 2566 – จากกรณีกระแสข่าว นายคริส โปตระนันทน์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และ มูลนิธิเส้นด้าย พร้อมด้วย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท เตรียมลาออกจาก พรรคก้าวไกล พร้อมกับรวบรวมทีมงาน ส.ก.จำนวนหนึ่ง ไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น

ล่าสุด นายคริส ได้โพสต์ยาวถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คริส โปตระนันทน์ – Chris Potranandana โดยระบุใจความดังนี้

วันสองวันนี้ มีคนสอบถามผมเข้ามาเยอะว่า ผมยังเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่ ? ผมเรียนถึงทุกท่านตามตรงว่า ผมมีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งในพรรคนี้ไม่น้อยกว่าใคร แต่ตัวผมก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.

1. ผมอยากจะทำการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคยังห่างจากที่พรรคโฆษณาอีกมาก การที่ผมได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับ คุณธนาธร เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 เพราะผมไม่ได้มาทำการเมืองเพื่อให้ใครได้เป็น ส.ส. เพื่อให้ใครได้อำนาจ หรือมาทำการเมืองเพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของใครบางคน

เวลาจากวันนั้นถึงวันผ่านมา 5 ปี ต้องถามกลับไปที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 60,000 คน ว่าทราบบ้างหรือไม่ว่าพรรคมีประชุมสามัญวันไหน พรรคมีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. กันอย่างไร กลไกในการคัดเลือกนโยบายที่จะหาเสียงในคราวนี้ คุณเคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่ ใครจะได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณรู้หรือไม่ ?

ผมในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกตลอดชีพ ทั้งพรรคอนาคตใหม่ และ พรรคก้าวไกล ตอบได้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ผมให้ชื่อเล่นกลุ่มนี้ว่า “โปลิตบูโร”

หากการบริหารพรรคยังเป็นอย่างนี้ หากพรรคก้าวไกล ได้อำนาจในการบริหารประเทศ พรรคก้าวไกลจะบริหารประเทศอย่างไร ก็คงต้องอยู่ที่คนกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่สมาชิกพรรคแต่อย่างใด เรื่องดี ๆ ใครก็พูดได้ แต่ทำยาก ผมก็เข้าใจ มิฉะนั้น พรรคก้าวไกลในอนาคตคงจะมีชะตากรรมไม่ต่างจาก พรรคการเมืองที่ดีแต่พูด (Hypocrital party)

เรื่องนี้ผมสะท้อนให้แกนนำฟัง ผมพูดในที่ประชุมใหญ่พรรคทุกปี พูดกับทุกคน คำตอบที่ได้มีเพียงแค่ “ขอเวลาหน่อย” “เรายุ่งมาก อดทนหน่อยนะ ทำให้แน่ ๆ” “เลือกตั้งคราวหน้า เราทำแน่ ๆ”

2. ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคก้าวไกล เช่น วันนี้หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่สำคัญที่สุดของพรรคก้าวไกลคือ เงินบำนาญของคนที่อายุเกิน 60 ปี ถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท หากนโยบายนี้สำเร็จ รัฐบาลจะมีรายจ่ายจากแปดหมื่นกว่าล้าน เป็นสามแสนล้านหกหมื่นล้านบาททันที หากใช้นโยบายนี้ต่อไปอีก 10 ปี คนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะกลายเป็น 20 ล้านคน เราจะมีรายจ่ายประจำปีปีละ 6 แสนกว่าล้านบาท หรือเท่ากับประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประเทศไทยเตรียมรับความชิบหายได้เลยครับ

วันนี้ถ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ถ้าผมอยู่ในพรรค ผมจะทำอย่างไรได้ครับ นอกจากเวลาใครพูดถึงนโยบายนี้ก็เงียบ ๆ แล้วกระซิบกับเค้าว่า ผมไม่เห็นด้วยนะ ที่ผ่านมาวัฒนธรรมของพรรคคือ ไม่เห็นด้วยอะไรก็คุยกันภายใน เพราะถ้าผมพูด คนในพรรคก้าวไกลจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกแยะได้ก็จะชี้หน้าคนที่คิดไม่เหมือนตนว่า ไม่มีอุดมการณ์ ไม่จงรักภักดีต่อพรรค ผมคนหนึ่งที่คิดไม่เหมือนพรรคทั้งหมด จะมีทางไหนเป็นทางออกครับ

บางคนบอกผมว่า อดทนอีกเดียวเอง จะได้เป็น ส.ส.แล้ว ถ้าผมได้เป็น ส.ส. แล้วผมต้องทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อประชาชน ผมไม่เป็นครับ

3. ผมไม่สามารถโกหกประชาชนได้ ครั้งนี้ผมจะลงเลือกตั้งรับสมัครเป็น ส.ส. อีกครั้งหนึ่ง แต่ผมไม่สามารถลงเลือกตั้งกับพรรคก้าวไกลได้ เพราะถ้าผมชนะเลือกตั้ง มันก็เท่ากับผมโกหกประชาชน ผมพูดนโยบายที่ผมไม่เชื่อ ผมพูดถึงพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการ ผมจะพูดถึงพรรคได้เต็มปากได้อย่างไร

ผมย้ำอีกครั้งว่า การที่ผมลาออกจากพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพราะผมโกรธ หรือ เกลียด หรือน้อยใจ แต่เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของพรรค ผมยังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นสังคมที่ผมเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย หรือ เรื่องการเปิดใบอนุญาตสุรา ให้มาถึงจุดจุดนี้

ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณ อ.ปิยบุตร ที่ชวนผมเข้ามาทำงานทางการเมือง แม้ว่าอาจารย์จะชิงลาออกตัดหน้าผมไปก่อนก็ตาม ผมขอขอบคุณพี่เอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้ให้โอกาสเป็นหัวหน้าคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคอนาคตใหม่ ผมขอขอบคุณ เพื่อน ๆ ทั้งในในพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล และประชาชนที่ได้ร่วมเดินทางกันทุก ๆ ท่าน

ถนนแห่งประชาธิปไตยไม่ได้มีทางเดียว
แล้วพบกันที่ปลายทาง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน