เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกขนาดและสาขาธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ต่างต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ธุรกิจทุกขนาดและทุกสาขาธุรกิจยังคงมีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสําหรับดําเนินกิจการและผลิต สินค้าคงคลัง ในขณะที่ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นนั้นพบว่าฝั่งสถาบันการเงินยังจำเป็นต้องเพิ่มมาตรฐานในการพิจารณาให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566 ต่อเนื่อง และยังเข้มงวดกับธุรกิจ SMEs เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อยังไม่ปรับตัวดีขึ้น

ศ.ดร.นฤมล ชี้ว่า ยิ่งเมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยปี 2565 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.2% เป็นผลมาจากการหดตัวของภาคการส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสศช.ยังปรับประมาณสำหรับในปี 2566 ลดลงจากเดิม 3-4% เหลือแค่ 2.7-3.7% ยิ่งจะทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจ SMEs มากขึ้น เช่น ปรับเพิ่มมาร์จิ้นสําหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง

“ในปีนี้ ที่เราต่างหวังกันว่าธุรกิจ SMEs จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว การเข้าไม่ถึงสินเชื่อของ SMEs จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SMEs ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูธุรกิจ ขอฝากไปถึงรัฐบาลและบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) ที่จะสามารถเป็นพระเอกในสถานการณ์นี้ ด้วยโครงการพิเศษเข้าช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs ที่มีโอกาสฟื้นตัว แต่เข้าถึงสินเชื่อเองไม่ได้เพราะปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ต่อลมหายใจให้คนตัวเล็กสามารถลุกขึ้นยืน และเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงในที่สุด!” ศ.ดร.นฤมล ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน