‘อนุทิน’ เผย 6 เดือนหลังเปิดประเทศ ยังคุมโควิดได้ดี ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตลดลง ย้ำต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น ป้องกันป่วยหนัก ลดอัตราเสียชีวิต

วันที่ 23 ก.พ. 2566 ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเดอะซีนิเซนส์ เขตภาษีเจริญ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรม “ปกป้องกลุ่มเปราะบางเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เชิงรุกให้ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงสูง ว่า สธ.ประกาศปี 2566 เป็นปีสุขภาพสูงวัยไทย ให้เข้าถึงบริการสุขภาพรวดเร็วและทั่วถึง ให้มีชีวิตยืนยาวและคุณภาพ

สธ.และกรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งโรงเรียนแพทย์ สถานพยาบาลรัฐและเอกชน ในการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโดยการฉีด LAAB เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัย เพราะกลุ่มนี้ตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าคนทั่วไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า LAAB มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่อผู้สูงอายุน้อย การทำเชิงรุกฉีดในสถานดูแลผู้สูงอายุโดยให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงใน รพ. จะเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เข้ามารับบริการหรือมารับการรักษา

“LAAB เหมือนวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้รักษาผู้สูงอายุกรณีติดโควิด เพราะออกฤทธิ์เร็ว และยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพราะเป็นไฮบริด ปีนี้เราประกาศเป็นปีการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยจึงต้องมาเร่งการฉีด LAAB ไปถึงผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ศูนย์ดูแลสูงอายุ สถานพยาบาลรัฐและเอกชนประสานมายังกรมควบคุมโรค เราก็จะจัดให้ ซึ่งรับบริการได้ฟรี เพราะรัฐบาลจัดสรรมาเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแก่ผู้สูงวัย”

“ตอนนี้เรามีประมาณ 2 แสนกว่าโดส จะกระจายทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ใช้ไปแล้วประมาณ 5.7 หมื่นโดส เหลือเพียงพอให้บริการกลุ่มเสี่ยง หากผลการใช้ออกมามีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่สูงในผู้สูงอายุก็สามารถจัดหาเพิ่มเติม”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ได้หารือคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่าเรามีการสต๊อก LAAB จำนวนหนึ่ง หากโรงเรียนแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ในเครือข่าย ต้องการ LAAB ไปให้บริการผู้สูงอายุ เราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ตอนนี้วัคซีนพอ แต่คนไม่อยากฉีดแล้ว ยังต้องเสริมความมั่นใจว่า ฉีดไว้ก่อนดีกว่าไม่ฉีด การที่เรารอดถึงทุกวันนี้ก็เพราะคนฉีดวัคซีน เราต้องสร้างความเข้าใจต่อไปนายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันของไทยดีขึ้นอย่างมาก สามารถเปิดประเทศเต็มรูปแบบ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก กระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากนี้ สธ.จะคอยมอนิเตอร์สถานการณ์ไม่ให้เกิดอะไรพลิกผัน

“ตอนนี้ 6 เดือนหลังเปิดประเทศก็ยังควบคุมการระบาดของโควิดได้อย่างดี อัตราการติดเชื้อเจ็บป่วย เสียชีวิตก็ลดลง ข้อบ่งชี้ด้านสุขภาพของการระบาดของโควิดมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเราใช้หลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ใช้ความรู้สึกอารมณ์ใดๆ”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หากจะมั่นใจมากกว่านี้ว่าติดเชื้อไม่เป็นอะไร ก็ชวนคนไทยทุกคนเน้นมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รับรองเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหลังๆ คนไทยเริ่มไม่มีความวิตกกับการติดเชื้อโควิด บางท่านไม่อยากจะรับวัคซีนแล้ว แต่การรับวัคซีนก็ใส่ล็อกอีกชั้นหนึ่งปลอดภัยมากขึ้น คนฉีดถึง 4 เข็ม จากการศึกษาแม้ติดเชื้อก็ไม่มีอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100%

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนแล้วกว่า 146 ล้านโดส ในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยอาการหนักและเสียชีวิตประมาณ 12.7 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่า ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว 10.2 ล้านคน (ร้อยละ 80) และได้รับเข็มที่ 3 แล้ว 5.6 ล้านคน (ร้อยละ 44)

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนการฉีด LAAB ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2565 มีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับ LAAB จำนวน 57,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 25,000 ราย ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับ LAAB เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สธ.จึงเพิ่มการเข้าถึงบริการ LAAB ด้วยแนวทาง “เข้าเกณฑ์ฉีด ควรรับฟังเพื่อตัดสินใจ หรือ Encouraging Decision” โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ชี้แจงข้อมูล และเปิดโอกาสกลุ่มเสี่ยงได้ซักถามเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจลงนามฉีด LAAB ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการหลายแห่งให้บริการฉีด LAAB ในผู้สูงอายุแล้ว เช่น เขตสุขภาพที่ 3 และ 4 รพ.ราชวิถี เป็นต้น

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่จำเป็นต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง (กลุ่ม 607) ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไต รวมถึงผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าหรือตามดุลพินิจของแพทย์

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า เราประมาณการณ์ไว้ โดยเตรียม LAAB ประมาณ 2.5 แสนโดส ใช้ไป 5.7 หมื่นโดส ปีนี้สุขภาพสูงวัยไทยเรากำลังมาทำในสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ จะมีกลุ่มเป้าหมายเราอยู่ 70-80% เพราะผู้สูงอายุบางคนมีโรคประจำตัวมาอยู่ที่นี่ แต่หากมีความต้องการเพิ่มขึ้นในคนไม่อยากฉีดวัคซีน ฉีดแล้วแพ้ก็จัดหาเพิ่มขึ้นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน