พระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ให้มีผลบังคับใช้หลังพ้น 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ

สาเหตุที่ทอดเวลาออกไปนานถึง 4 เดือน เนื่องจากต้องการให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มีเวลาเตรียมการ บุคลากร อุปกรณ์ และอื่นๆ ให้พร้อมปฏิบัติตามเจตนารมณ์

เพื่อให้ความคุ้มครองทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้สูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว

หลังกฎหมายฉบับนี้จะมีผลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมขอขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปก่อน ระบุว่าหน่วยงานปฏิบัติยังไม่มีความพร้อม

ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22, 23 และมาตรา 25 ออกไปเป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป

จากนั้น ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าเมื่อตราพระราชกำหนดแล้วจะต้องส่งให้สภาผู้แทนพิจารณาโดยไม่ชักช้า

แต่รัฐบาลก็ยังลังเลและมีทีท่าจะไม่ยอมส่ง โดยอ้างว่าใกล้ปิดสมัยประชุมแล้ว รอสภาสมัยหน้าจะเหมาะสมกว่า ซึ่งฝ่ายค้านยืนยันว่าสภายังไม่สิ้นวาระ ถ้าไม่ส่งมาให้พิจารณา ก็จะยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ

จนวันสุดท้ายของการประชุม รัฐบาลจึงให้สภาในช่วงคาบลูกคาบดอก ประธานสภาต้องนัดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566








Advertisement

ความจริงกฎหมายฉบับนี้ทอดเวลาให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการถึง 4 เดือน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยให้ความสำคัญหรืออาจต้องการยื้อไม่ให้มีผลบังคับใช้ตามกำหนด

โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีนั้นบทบาทที่ผ่านมามักละเลยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการซ้อมทรมานและอุ้มหายอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

แทนที่จะเร่งรัดให้รีบดำเนินการเพื่อยุติการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ แต่กลับปล่อยให้เนิ่นนานจนขาดความพร้อม และมีผลให้ต้องเลื่อนใช้บังคับออกไปอีกถึง 7 เดือน

การประชุมสภาในวันอังคารนี้จึงน่าติดตาม เพราะเสียงของรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวนัก ถ้าหากไม่ผ่านการพิจารณาและมีอันตกไป นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือหากยังอยู่และมีผลด้วยกลไกเทคนิควิธีในสภาก็ถือว่าไม่สง่างามอยู่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน