“แอมเนสตี้” ยื่น “ฝ่ายค้าน” เสนอ 3 ข้อเรียกร้อง ค้าน พ.ร.ก.อุ้มหาย ด้าน “ก้าวไกล” โดดรับ ซัดรัฐบาลเตะถ่วง-ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา กลุ่มแอมเนสตี้ ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรม และญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย ยื่นข้อเรียกร้องต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย เสรีรวมไทย

น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มติดตามความคืบหน้าของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.มาตลอด แต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมากว่า 10 ปี และถือเป็นกฎหมายสำคัญนำไปสู่การป้องกันการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่ทางการไทยประกาศไว้ในเวทีโลก ทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัว ให้ได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรม จากกรณีถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย

“การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ” น.ส.ปิยนุช กล่าว

น.ส.ปิยนุช กล่าวว่า แอมเนสตี้จึงขอเรียกร้อง 1.ประกาศการใช้ พ.ร.บ.ทั้งฉบับ โดยไม่ยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้งให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีอื่นๆ (OP-CAT)

2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวง เพื่อให้การปฏิบัติตามพ.ร.บ.เป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น ในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด

และ 3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทําความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของ

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ข้อเสนอแอสเนสตี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้มาตลอด เรามีความหวังอย่างสูงว่าในวันที่ 22 ก.พ.นั้น จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชน ต่อสิทธิเสรีภาพของนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และต้องให้ความเป็นธรรมกับกรณีที่มีการซ้อม อุ้มหาย ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

“แต่สิ่งที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.ฉบับนี้มา สร้างความผิดหวังให้เราเป็นอย่างยิ่ง นี่คือเจตนาเตะถ่วง ไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ ท่านอ้างเรื่องความไม่พร้อม ทั้งที่ท่านมีเวลาเตรียมตัว ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน และมีส.ส.ของรัฐบาลอีกจำนวนไม่น้อย ที่จะโหวตคว่ำร่างพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีการอภิปราย จะทำให้การอภิปรายต้องหยุดทันที ผมคิดว่าเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจที่ประชาชนมอบให้พวกเรา” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน