ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ชี้ขาด คำว่า ราษฎร ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ปม กกต.นำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 มี.ค.2566 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติ คำร้องที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86

ซึ่ง กกต.คิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีโดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ต่อมามีผู้โต้แย้งและขอให้ผู้ร้อง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว จะส่งผลให้ กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่และจะกระทบต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลงจังหวัดละ 1คน ประกอบไปด้วย 1.ตาก 2.เชียงราย 3.เชียงใหม่ และ 4.สมุทรสาคร จังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่มจังหวัดละ1คน คือ 1.อุดรธานี 2.ลพบุรี 3.นครศรีธรรมราช และ 4.ปัตตานี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน