“ชวน” รับ สภาฯ ช่วงหลังมีปัญหา แต่พอใจ 4 ปีผลงานสภา ออกกฎหมาย-ช่วยชาวบ้านได้ 80% กรีดยับ ต้นเหตุสภาล่ม ว่างเว้นไป 5 ปี เลยไม่รู้ทำงานยังไง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของสภาฯ ชุดที่ 25 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่า โดยรวมถือว่าใช้ได้ แต่เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบในช่วงปลายสมัยประชุม ทำให้เสียโอกาส ในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองหลายฉบับ แต่โชคดีที่สภาชุดนี้ขยันตั้งแต่ช่วงปีแรก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับโควิด-19 ทำให้กฎหมายรัฐบาลไม่ค้างสภา แต่มาค้างในช่วงท้าย

นายชวน กล่าวว่า ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก็ผ่านได้ทุกเรื่อง ยกเว้นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ที่ส.ว.มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ด้วยความรู้สึกว่ากฎหมายฉบับนี้โจมตีวุฒิสภา

นายชวน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสุดท้ายของการประชุม ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่า ผลการหารือกว่า 80% ได้รับการแก้ไข ตนจึงบอกว่าต้องไปขอบคุณฝ่ายบริหารด้วย ทั้งนี้ เราได้ปรับเปลี่ยนระบบการส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ผลไวขึ้น แต่สิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้คือกระทู้ถาม ที่ได้ยินว่ารัฐบาลไม่มาตอบกระทู้ ตนจึงบอกว่าอยากให้เปรียบเทียบกับในอดีต พบว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน ตอบกระทู้ได้มากกว่าในอดีตมาก

ส่วนเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำ คือกระทู้ถามสดด้วยวาจา ซึ่งรัฐมนตรีจะไม่รู้ตัวก่อน บางท่านจึงไม่ได้เตรียมตัว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยสรุปการทำงานของสภาชุดนี้ ตลอด 4 ปี ผ่านไปได้ด้วยดีพอสมควร แต่ตนเสียดายตอนหลัง เพราะขนาดตนทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ด้วยตัวเอง เพื่อแนะนำให้หารือพรรคร่วมรัฐบาล แล้วถามว่าพรรคไหนส่ง ส.ส. เข้าประชุมกี่คน เพื่อให้การทำงานในสภาไม่มีปัญหา ซึ่งตนทราบว่านายกฯ ช่วยพูดให้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือ

เมื่อถามว่ากรณีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า รัฐบาลทุดชุดที่ผ่านมาก็เป็นรัฐบาลผสม แต่ชุดนี้ผสมเยอะ กว่า 19 พรรค ซึ่งมีปัญหาในช่วงหลังของการทำงาน ตนเข้าใจว่าเป็นเพราะ 1.นายกฯ ไม่ได้เป็นส.ส. ซึ่งท่านจะมาสภาฯ เฉพาะวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เท่านั้น 2.หัวหน้าพรรคที่เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ดังนั้น เวลาถามหาผู้รับผิดชอบในเรื่ององค์ประชุม เหลียวซ้ายแลขวาก็หาตัวยาก

ในส่วนของวิปหรือผู้ควบคุมเสียง เราก็ต้องเห็นใจเขา เพราะควบคุมองค์ประชุมยาก ซึ่งพยายามแล้วแต่ความร่วมมือก็ไม่พอ บางพรรคก็โกรธที่ญัตติของตัวเองไม่ผ่าน จึงแสดงการตอบโต้ด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ แต่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้มาคุยกับตนว่า การอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดบัตรแสดงตน เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งตนให้เจ้าหน้าที่นับในห้องประชุมก็ปรากฏว่า ครบองค์ประชุม เพียงแต่ไม่ได้เสียบบัตรแสดงตน

“อย่างไรก็ตาม สมาชิกให้ความร่วมมือ 99.99% อะไรที่ไม่ถูกต้อง เขาก็ยอมรับ ดังนั้น ในอนาคตก็หวังว่าจะเรียนรู้ บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา สำคัญที่สุดคือความต่อเนื่อง เมื่อสภาอยู่ได้ครบ 4 ปี ก็อย่าไปว่างเว้น เพราะก่อนที่จะมีสภาฯ ชุดนี้ ได้ว่างเว้นไป 5 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานมาก ไม่มีบทเรียน และหลายคนไม่รู้ว่าสภาทำงานอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นการเริ่มต้นใหม่ และถ้าไม่อยู่ในระเบียบข้อบังคับสภาก็เละ เช่น บางคนแต่งตัวไม่เรียบร้อย” นายชวน กล่าว








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน