ศาลปกครองสูงสุด ตีตกคำร้อง ‘เรืองไกร’ ขอเพิกถอน พระราชกฤษฎีกายุบสภา 2566 เหตุไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา พร้อมจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

เมื่อวีนที่ 28 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี จากเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 103 วรรคสาม ขอให้ศาลฯ คำสั่งระงับไม่ให้ พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว และเพิกถอนพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 ที่ตราขึ้นโดยไม่สุจริต

ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า การยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งส.ส.ใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้นในมาตรา 103 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ จะบัญญัติให้ทำในรูปแบบของพ.ร.ฎ. แต่พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ไม่ได้ตราขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ หรือเพื่อกำหนดการอันจำเป็นแก่การดำเนินกิจการทางปกครองตามที่องค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตราขึ้นในระดับพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดต่างๆ กำหนดให้อำนาจในการตราพ.ร.ฎ.ไว้ แต่เป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา

พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจึงไม่ใช่พ.ร.ฎ.ตามนัยมาตรา 11(2)แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง 2542 คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2566 จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในหลายคดีเช่น คดีหมายเลขดำที่ ฟ.5/2549 หมายเลขแดงที่ฟ. 3/2549 คดีหมายเลขดำที่ฟ. 100/2556 หมายเลขแดงที่ฟ.12 7/2556

ส่วนที่นายเรืองไกร ขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามความในมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ เป็นคำขอที่อยู่นอกเหนืออำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 9 ประกอบมาตรา 72 ของพ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่จะมีอำนาจและมีคำสั่งให้ตามที่ขอ

จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ทำให้ไม่จำต้องพิจารณาคำขอไต่สวนฉุกเฉินเป็นกรณีเร่งด่วนและไม่จำต้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราวให้ระงับพ.ร.ฎ.ยุบสภา 2566 ไม่ให้มีผลใช้บังคับไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการมีคำพิพากษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน