แจงแล้วไปทำไม ประธาน กกต. เผยความจำเป็น บินดูงานเลือกตั้งต่างประเทศ เพื่อถอดบทเรียนไม่ให้ซ้ำรอยในอดีต มั่นใจบัตรไม่ตกหล่นมีระบบติดตาม

วันที่ 18 เม.ย.2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ว่า เราเดินทางไปดูงานต่างประเทศเพื่อดูกระบวนการการเลือกตั้งว่าสามารถตอบโจทย์การให้บริการกับคนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงรับฟังปัญหาในการปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังดูเรื่องการส่งบัตรไปให้สถานทูตต่างๆใช้ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และกระบวนการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนว่าสิ่งที่ได้จากการไปดูงานเรามีความมั่นใจให้บริการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้อย่างไรบ้าง

นายอิทธิพร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนไปประเทศแอฟริกาใต้ เคนย่า และโมร็อกโก ซึ่งเป็น 3 ใน 7 สถานทูตในประเทศไทยที่ต้องดูแลคนไทยใน 54 ประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งทุกประเทศมีคนไทยอยู่หมดยกเว้นประเทศบุรุนดี คอโมโรส ประเด็นสำคัญคือเราจะให้บริการคนไทยที่ประสงค์จะใช้สิทธิอย่างไร โดยเรากำหนดกระบวนการเลือกตั้งไว้ 3 ช่องทาง 1.ไปรษณีย์ 2.เลือกในคูหาที่สถานทูต 3.เลือกตั้งในคูหาเคลื่อนที่

สิ่งที่เป็นห่วงคือเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ เพราะระบบการไปรษณีย์ของแต่ละประเทศจะมีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน ทำให้วันที่กำหนดให้ส่งมาถึงอาจจะต้องมีความเสี่ยง จึงต้องบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรให้วิธีการส่งบัตรลงคะแนนที่คูหาตอบโจทย์กับคนไทยมากที่สุด ไม่ให้เกิดความผิดพลาดสำหรับคนไทยที่ลงทะเบียน

ส่วนกรณีถ้าบัตรเลือกตั้งตกค้างจากต่างประเทศส่งมาถึงไทยในเวลากระชั้นชิดทำให้ส่งไปไม่ถึงภูมิลำเนาผู้มีสิทธิและไม่นับคะแนน นายอิทธิพร กล่าวว่า เราตั้งใจให้ไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะครั้งที่แล้วมี จึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศให้ส่งบัตรภายในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งถ้าทำได้ก็จะมีเวลาตรวจสอบ และสามารถส่งบัตรไปที่จังหวัดต่างๆได้ทันก่อนวันที่ 14 พ.ค.








Advertisement

ดังนั้นการที่จะส่งบัตรในช่วงเวลากะทันหัน หรือส่งมาช้าก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้จะไม่เกิดขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศให้ความร่วมมือในการจัดเจ้าหน้าที่สถานทูต 13 แห่งที่มีความเสี่ยงเรื่องที่จุดเปลี่ยนเที่ยวบิน ประกอบด้วยประเทศในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเราไม่อาจจะเสี่ยงได้อีกแล้ว

โดยจุดไหนที่ต้องเปลี่ยนเที่ยวบินกระทรวงการต่างประเทศจะถือมาเอง เพราะฉะนั้นกระบวนการส่งตรงบัตรไม่น่าจะมีปัญหา นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศยังได้มีระบบ OVMS ที่เป็นระบบติดตามตรวจสอบถุงเมล์ว่าอยู่ที่ใด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปยังนอกราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

“เราได้ย้ำและประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความมั่นใจว่าถ้าส่งไปรษณีย์เรามีวิธีที่จะทำให้บัตรส่งมาถึงมือสถานทูต และส่งลงถุงเมล์เพื่อที่จะส่งกลับมาประเทศไทย โชคดีที่ว่าในการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สถานทูตจะมีชื่อและที่อยู่ของคนไทยทั้งหมด เวลามีอะไรเราก็จะแจ้งตลอดเวลา เราขอให้นักศึกษาและผู้มีสิทธิในต่างประเทศเวลาส่งบัตรผ่านไปรษณีย์ให้แจ้งมาด้วย จะได้ช่วยกันติดตามว่าบัตรจะมาถึงในช่วงเวลาที่ได้ประเมินไว้หรือไม่ และหากไม่ทันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร” นายอิทธิพร กล่าว

เมื่อถามถึงงบประมาณการดูงานของกกต.ในต่างประเทศ นายอิทธิพร กล่าวว่า การเลือกตั้งนอกราชกำหนดให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยจะมีการกำหนดงบประมาณก้อนหนึ่งไว้ใช้เพื่อการนี้ ซึ่งงบดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่ากกต.จะให้ความสำคัญกับจุดไหนเป็นพิเศษโดยเป็นงบประมาณที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาในทุกๆปี เพราะฉะนั้นต้องอยู่ในวงเงินดังกล่าวจะมากกว่านี้ไม่ได้

โดยการดูงานของกกต. ไม่ได้ไปพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 5 – 22 เม.ย.ที่กำหนดให้กกต.แต่ละท่านสลับกันไป ส่วนถ้ามีประเด็นที่จะต้องพูดคุยกันเป็นการประชุม เราสามารถประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราสามารถประชุมกันได้เสมอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน