ตัวแทน 4 พรรคการเมือง ประชันนโยบาย ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผลักดัน Soft power ไทย สู่สายตาชาวโลก

Soft power – จากเวทีเสวนา ” ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในนโยบายพรรคการเมือง” ที่จัดขึ้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา มีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วมประชันวิสัยทัศน์ ประกอบด้วย นพ.​สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย, อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, เมลิสา มหาพล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และ สกุลรัตน์ ทิพย์วรรณงาม ผู้สมัครส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย โดยการเสวนามีใจความสำคัญ ดังนี้

คำถามถึงพรรคเพื่อไทย: บทบาทของ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ที่จะดูแลทั้งระบบเบ็ดเสร็จภายในองค์กรเดียว มีความเหมือนหรือต่างกับบทบาทของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในปัจจุบันอย่างไรเพราะอำนาจ THACCA ครอบคลุมหลายเรื่องตั้งแต่ศิลปะ Soft power ไปจนถึงอาหารและกีฬา THACCA จะสามารถทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพอย่างไร

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นเลย CEA เป็นองค์การมหาชน องค์การมหาชนออกตามพระราชกฤษฎีกาองค์การมหาชน ซึ่งลักษณะของอำนาจหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไปบังคับใคร CEA จะไปบอกว่าให้คนนั้นคนนี้ส่งข้อมูลมาทำไม่ได้ เพราะ CEA ไม่ได้มีอำนาจแบบนั้น องค์การมหาชนเป็นอำนาจแบบเชิงโปรโมชั่น แต่สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย สามารถที่จะใช้อำนาจนั้น

อย่างเช่น เวลาเราบอกว่าจะทำ One Stop Service สมมติเวลาจะจัดเฟสติวัลก็ต้องไปขอตำรวจ ขอท้องถิ่นต่างๆ เราบอกเลยว่าเราขอทำ One Stop Service แล้วเราจะประสานงานเองอำนาจตรงนี้ถูกถ่ายมาให้ เป็นต้น ดังนั้น อำนาจจะต่างจากองค์การมหาชนแน่นอน และสามารถที่จะมีงบประมาณเป็นของตัวเองที่มากพอสมควร เพราะถ้าบอกว่าเป็นกฎหมายเขียน ก็อาจมีงบประมาณที่จะรองรับตามยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

นพ.​สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย

ถ้าจะล้มองค์กรแบบนี้ล้มไม่ได้ เพราะหากจะล้ม THACCA ต้องผ่านรัฐสภา ดังนั้นตรงนี้จะมีความยั่งยืน ส่วนประเด็นการทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นนั้น ต้องมองว่าเรื่องของยุทธศาสตร์ THACCA เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้ทางรัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน และผลักดัน Soft power ทุกแขนง และผลักดันศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยออกไปทั้งในแง่ของในประเทศและออกไปสู่ตลาดโลก

เพราะฉะนั้นจะต้องมีการพูดถึงบทบาทที่จะต้องมีการแบ่งแยกกัน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ก่อนที่จะมี KOCCA กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทำทุกอย่าง แต่พอมี KOCCA เกิดขึ้นมา แยกงานกันในเรื่องของการส่งเสริม Soft power และศิลปะต่างๆมาอยู่ที่ KOCCA กระทรวง MCST (Ministry of Culture, Sports and Tourism) ก็ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับบทบาทการส่งเสริมวัฒนธรรม กีฬาทั่ว ๆ ไป

แต่ถ้าจะทำแบบส่งเสริมมวยไทย อยากทำให้มวยไทยกลายเป็น Soft power ออกสู่ระดับโลก ตรงนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอาจจะไม่ได้มีความคล่องตัวได้แบบนั้น ดังนั้นจะต้องให้ THACCA ดำเนินยุทธศาสตร์มวยไทยส่งเสริมไปในระดับประเทศ ส่งเสริมไปทำค่ายมวยต่างๆ จะทำยังไงให้อุปกรณ์กีฬาต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านมวยไทยเนี่ยออกไปสู่ตลาดโลกได้ ความคล่องตัวจะไม่ได้อยู่ในระบบราชการ เพราะบทบาทของ THACCA คือบทบาทของเอกชน คณะกรรมการบริหารของ THACCA ต้องมีตัวแทนของรัฐและภาคเอกชนที่มีการขับเคลื่อนวงการต่างๆ เข้ามาร่วมในการตัดสินใจ

ขณะที่ อภิสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า เท่าที่ทราบ วิธีดำเนินงานหนึ่งในนั้นคือเกาหลีใต้ที่มี Creative Content ในไต้หวันก็ใช้ Creative Content แล้วตั้งหน่วยงานขึ้นมาคล้ายๆ KOCCA ในไต้หวันใช้ TACCA ส่วนในยุโรปมี Based on เป็น Creative Industry ไม่ได้ทำเฉพาะ Content แต่จะทำ Industry ทั้งหมด พรคคก้าวไกลเสนอไอเดียเดียวกับคล้ายๆ ในยุโรป ตนมองว่าวิธีคิดมีอยู่หลายวิธีที่จะตอบโจทย์ อย่างโจทย์ในยุโรปมองภาพของ Creative industry ทั้งหมด แต่ถ้าเหมือนโจทย์ของเกาหลีและใต้หวัน มองแค่ภาพของ Creative content

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ ได้ตอบคำถามประเด็น นโยบายเปลี่ยน “กระทรวงวัฒนธรรม” เป็น “กระทรวงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์” เท่ากับเป็นการยุบ CEA ใช่หรือไม่ งานศิลปวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นโดยมิได้ใช้มูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ส่งออกไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่ากับงานที่สร้างขึ้นเพื่อส่งออกหรือไม่ ข้อกังวลนี้สะท้อนจากนโยบายพรรคก้าวไกล ซึ่งเน้นไปที่งานภาพยนตร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจชัดเจน งานศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ จะมีพื้นที่เติบโตในนโยบายของพรรคก้าวไกลอย่างไร

อภิสิทธิ์ กล่าว่า กลุ่มของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แบ่งได้ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.Creative content industry 2.ศิลปวัฒนธรรม ทักษะ 3.Functional (Design/ Uxui / Architect) 4.Createch (Creative+Technology) 5.Cross industry เช่น สาธารณสุข คมนาคม มหาไทย

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ฉะนั้นวิธีวางโครงแตกต่างจากเรื่องเดิม ตัวกระทรวงก็ทำในหน้าที่เดิม ภารกิจเดิมด้านวัฒนธรรมจะมีภารกิจอื่นๆที่กระทรวงไม่เคยขยายความว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยผ่านหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักงานนโยบายและกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยดูนโยบายเรื่องเงิน ส่วนในภารกิจอื่นที่ทำกันอยู่เช่น CEA

CEA เป็น ผู้จัด เป็นผู้ดำเนินการ ที่จะทำงานในกลุ่มของการออกแบบ งานในแง่ของ เทคโนโลยี เรามี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa เป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว ฉะนั้นกระทรวงยังมีขาสำคัญ คือ ศิลปะและวัฒนธรรม ต้องทำต่อ คำถามว่าแล้วเรามันไม่ได้ทำส่งออก ถ้าเผื่อเป็นพื้นฐานเดิมที่เราเห็นภาพอยู่แล้วว่า วัฒนธรรม เท่ากับ วัฒนธรรม หากเราเติมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าไปก็ปั่นวัฒนธรรมออกไปอยู่วัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อไปเจอกับตลาดภายนอก วัฒนธรรมที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะใหญ่มากขึ้นในต่างประเทศ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยที่บอกว่าทำให้กระทรวงวัฒนธรรม กลายเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะมองว่า กระทรวงวัฒนธรรมคือหน่วยงานราชการทำตามระเบียบราชการ หากเราจะผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศ ต้องการความคล่องตัว และการร่วมตัดสินใจระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะประชาคมทางด้านศิลปะ ระบบราชการไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบราชการมาร่วมตัดสินใจด้วย

ดังนั้นการที่จะให้กระทรวงวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องยนต์ที่ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft power ศิลปะร่วมสมัยจึงเป็นหนทางที่เราไม่เห็นด้วย ถามว่า แล้วทำไมถึงคิดว่า TACCA จะทำได้เพราะว่า TACCA จะเป็นหน่วยงานตามกฎหมายและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี คนที่จะผลักดันเรื่อง Soft power และศิลปะต่างๆได้ต้องเป็นคนที่มีอำนาจ และเห็นยุทธศาสตร์เรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

อภิสิทธิ์ ชี้แจงเพิ่มว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีสองขาเดิมที่ทำอยู่แล้ว กลุ่มงานศิลปะวัฒนธรรมที่มีสำนักรับผิดชอบ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่คุมกลุ่มภาพยนต์ ถึงบอกว่าข้อเสนอของพรรค ตั้งสำนักงานอีกแห่งมาดูนโยบายกับตัวกองทุน ทำหน้าที่เป็น Creative content เพื่อแก้ปัญหารากฐานของงานของไทย Creative content ที่ไม่โตคือกลุ่มนักเขียนจุดเริ่มต้นในบทภาพยนต์ ขาเดิมของกระทรวงวัฒนธรรมเนี่ยผมยังรักษาไว้ งานเดิมที่ทำอยู่เป็นต้นรากฐาน หน่วยงานอื่นเป็นตัวปฏิบัติการ หน่วยงานที่จัดตั้งคือ สำนักงาน ส่งเสริมนโยบายและกองทุน

เมลิสา กล่าวถึงแนวทางของพรรคไทยสร้างไทย ทำอย่างไรไม่ให้คำว่า Soft power ถูกจำกัดเพียงการขายภาพลักษณ์ไทยนิยม ว่า ถ้ามองว่า Soft power เป็นการขายภาพลักษณ์ไทยนิยมเท่านั้น แปลว่าภาพลักษณ์ของไทยนิยมอาจจะไม่ส่งผลไปสู่ด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราทำ Soft power อย่างที่เราพูดไปว่าเวลาเราจะทำอะไรเราไม่ได้มองไปที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือแค่ศิลปวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เรามองให้ครบทุกด้านว่าเราจะรวบรวมเอา Soft power ทั้งหลายมาทำยังไงให้เกิด Impact สูงสุด

พอเกิด Impact ขึ้นมาแล้ว มันก็จะไม่ใช่แค่การขายภาพลักษณ์อย่างเดียว แต่จะทำให้เรามีนักท่องเที่ยวมากขึ้น การเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วก็เป็นเรื่องการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การเพิ่ม GDP ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากภาพลักษณ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่พรรคได้บอกว่าเราส่งเสริม Soft power ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร แฟชั่น ผ้า หรือศิลปะการต่อสู้ ศิลปินหรือภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาพยนตร์ก็จะเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ได้ชัดเจนเพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนง่าย มี Impact ได้ง่าย

เมลิสา มหาพล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย

การสอดแทรกทุกอย่างเข้าไปในภาพยนตร์จึงเกิด Impact อย่างละครซีรีส์เรื่องบุพเพสันนิวาส ตอนนั้นก็เกิดกระแสมะม่วงน้ำปลาหวานฟีเวอร์ขึ้นมา จริงๆตรงนี้เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่เราอาจจะมองข้าม แต่เมื่อส่วนเล็กๆ มาทำงานแบบสอดประสานกันแล้วเนี่ยทำให้เป็น Impact ใหญ่ นโยบายพรรคก็คือสนับสนุนทุกมิติ หรือมีคนต้องการให้มีการสนับสนุนเฉพาะส่วนทางพรรคก็ยินดีทำ

การวางแผนกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์พยายามมองอะไรที่เป็นภาพกว้าง เหมือนกับมองการลงทุนว่านยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว มากกว่า 2 ตัว เพราะเกิดผลดีในหลาย ๆ ด้าน ที่ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ไทยนิยมหรือเศรษฐกิจภาพใหญ่เท่านั้น ยังส่งผลกระทบถึงคนตัวเล็ก ๆ ที่เป็นฟันเฟืองในแต่ละหัวข้อหรือ Sub-division ย่อย ๆ ของสิ่งที่เราพูดถึงอยู่

ด้าน สกุลรัตน์ กล่าวเสริมว่า อาจหมายถึงต่างชาตินิยมผู้กำกับไทย เหมือนดูหนังต่างประเทศ เช่น พอเราบอกผู้กำกับคนอินเดียจะนึกสไตล์ออก ไทยนิยมมีคุณค่าอยู่แล้วไม่ต้องไปจำกัด หรือเป็นลูกหลานที่สามารถสร้างเกมส์ ผลิตเกมส์ ทำเป็น Roblox หรืออะไร ไม่ต้องเอาช้างมาวิ่งในเกมส์ก็ได้ ทำให้ทันสมัย ทำให้คนตื่นเต้นว่าคนผลิตเกมส์เป็นเด็กคนไทยคนนึง หรืออย่างการ์ตูนเอนิเมชั่น ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นก้านกล้วย ต้นกล้วย ก็สามารถสร้างคำว่าไทยนิยมได้ จริงๆคำนี้ควรจะเก็บไว้ เพราะโตมาจากคำนี้

สกุลรัตน์ ยังได้คำถามถึงนโยบายพรรคภูมิใจไทย เรื่อง กองทุนภูมิใจศิลปวัฒนธรรมไทย มีความตั้งใจที่จะนำงานระดับโลกมาจัดที่ประเทศไทย และนำเทศกาลของไทยไปสู่ระดับโลก งานนั้นมีลักษณะอย่างไร เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลักหรือไม่ ทางพรรคมีนโยบายสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในส่วนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง

สกุลรัตน์ ทิพย์วรรณงาม ผู้สมัครส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย

สกุลรัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากงานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยจะสอดคล้องกับการท่องเที่ยว เพราะลักษณะของแต่ละจังหวัดจะต่างกัน ดังนั้นที่พูดถึง Soft power จะแค่บ่งบอกเอกลักษณ์ แต่ยังไม่ทรงพลังพอที่จะขายไปต่างประเทศ เราต้องรากฐานที่เข้มแข็งจริงๆของ Soft power ที่ทำให้ยั่งยืน มั่นคง ผ่านวิกฤตต่างๆไปได้ โดยจะทำ 2 ทาง คือ ดึง และ ดัน ดึงงานเทศกาลระดับชาติเข้ามา เช่นเทศกาลพลุ เทศกาลเพลง อะไรก็ตามที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ นั่นคือลูกค้าที่จะเข้ามาในประเทศไทยในแต่ละจังหวัด

แล้วเห็นผลงานอันทรงคุณค่า เห็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของแต่ละจังหวัด สร้างให้เป็นกิจจะลักษณะตลอดไป ดัน คือการดันเทศกาล ผลงานศิลปินไทย หรือของประชาชนที่มีสนใจและความสามารถออกไปสู่ระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์กรอย่างท่าน ผนวกกับอีกหลายองค์กรเข้ามาจะเป็นสหภาพ THACCA หรืออะไรก็ตาม ขอให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยเกิดจากกองทุนภูมิใจศิลปวัฒนธรรมไทย

หากไม่ใช่เฉพาะการท่องเที่ยวจะสนับสนุนศิลปะเรื่องอื่นอย่างไร สกุลรัตน์ กล่าวว่า จริงๆสอดคล้องไปด้วยกัน เพราะไม่ได้ตั้งใจทำศิลปะทันสมัยเฉพาะในกรุงเทพหรือใจกลางเมืองอย่างสยาม แต่อยากให้เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอระดับโลก เมื่อพูดเรื่องนี้ควรพูดถึงทุกจังหวัดและสร้างทุกจังหวัดให้เป็นพื้นที่ศักยภาพ พื้นที่วิเศษ เหมือนตนหาเสียงที่ประเวศ สะพานสูง ไม่ใช่ไปประชุมกับกทม.ทีไรแล้วพูดถึงแต่ปัญหาของเขตประเวศ ไม่เคยมีอะไรวิเศษ มีอะไรอวดได้ รู้สึกจะอายแทนถ้าเราเป็นผู้แทน

แต่ถ้าเราเป็นผู้แทนในกทม.หรือสภา แล้วพูดว่าพื้นที่ของตนมีฟุตบอลลีกส์ ลีกส์คัพ มีวัฒนธรรม ชุมชนสามารถพายเรือในคลองประเวศ ไปตรงนู้นตรงนี้ นี่คือ สิ่งที่เป็นลักษณะรูปแบบของพื้นที่ที่มีศักยภาพ พื้นที่วิเศษ ที่จะเกิดจากกองทุนนี้ ไม่ควรจะเพลนๆ ทั่วไป ใครๆก็มี เธอทำกล้วยฉาบ ฉันก็ทำกล้วยฉาบ ทำให้เด่นชัดไปเลยของแต่ละจังหวัด

ตัวแทนจาก 4 พรรค ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ เรื่อง กองทุนศิลปะ พรรคการเมืองจะหาเงินจากไหน และจะอัดฉีดไปจุดใดในแต่ละอุตสาหกรรม

สกุลรัตน์ กล่าวว่า กองทุนที่พรรคได้ทำการบ้านมา กองทุนภูมิใจศิลปะของไทย พูดกว้าง พอเป็นรัฐบาลย่อมมีงบ ประมาณ แต่การที่จะนำเงินไปอัดฉีดใครนั้นสำคัญ ไม่ว่าเพื่อไทยอาจจะบอกว่า TACCA หรือไม่ หรือกลุ่มของพวกท่านเองที่รวมตัวเป็นสหภาพแล้วก็สามารถที่จะคัดปรับ นำเสนอ พัฒนา คนเหล่านี้ที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปเพื่อสร้างผลงานดีๆ ไม่ว่าจะพูดถึงผู้กำกับ 3 คนนี้ 4 คนนั้น ค่ายนี้ค่ายนั้น แต่เราพูดถึงทั้งหมดของประเทศ

เราต้องมีองค์กรตัวกลาง มาจากคนที่มีศักยภาพ ในการดึงคนที่เก่งมาร่วมกันสร้างมาตราฐาว่าลักษณะนี้เรียกว่า ผู้กำกับของประเทศไทย ผู้ที่จะสร้างสรรค์ออกแบบศิลปะของไทย แบบนี้ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปิน

ส่วน เมลิสา กล่าวว่า อย่างที่พูดมาตั้งแต่ตอนแรก คนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ ไม่ได้เป็นศิลปินแค่เฉพาะนักแสดง อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่ารายได้นักแสดงค่อนข้างสูง แต่จริงๆแล้วมีอีกบทบาทหลายๆหน้าที่ ถ้าไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นเงินที่มาจากรัฐ วิธีที่จะจัดสรร อย่างที่เราบอกว่าส่งเสริมเรื่องของ Soft power และ SME ในหลายๆส่วน การที่จะสร้างสรรค์ งานศิลปะ ก็สามารถดึงเข้าไปในหลายๆส่วนได้ เช่น กองทุนของ SME ถ้าผู้สร้างมีทุนไม่มากพอ หรือ อาจไม่มีนายทุน ในที่นี้อาจมีคนอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ

ต้องมีการนำเสนอเข้ามาว่า ภาพยนต์ที่คุณจะสร้าง มันสร้างผล อะไรได้บ้าง มันมีบทบาทหลายมิติที่แสดงออกมาได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความสนุกสนาน แต่อาจจะสอดแทรก เรื่องของ อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบาย ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น World class destination ในเรื่องของการท่องเที่ยว เราก็สามารถให้

ทุนกับคนที่อยากสร้างภาพยนต์ออกมาในแนวนี้ได้ด้วย ในสัดส่อนของตรงนี้เรามองเป็นภาพรวมด้วย การที่เราส่งเสริมศิลปะหรือวัฒนธรรมที่อาจเป็น Soft power เรามองว่า คนที่เป็นศิลปินมีเยอะ และถ้าเราสามารถสร้าง Impact ร่วมกันได้ จากข้อเท็จจริง การลุงมันเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สมควรและไม่สูญเปล่า

สำหรับอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า เงินกองทุนที่ตั้งเป้าไว้คือ 3,000 ล้าน เงินมาจากก้อนใหญ่ที่พรรคตั้งไว้ตั้งแต่ต้น ที่ปรับเรื่องภาษีที่เตรียมไว้ ส่วนข้อที่สองว่าจะใช้เงินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ กลุ่มแรกที่เราอยากเห็น อยากให้ใช้ คือ กลุ่มประเภท นักศึกษา และ Young talent อย่างเช่นการ ขอ Pitch งานที่เมืองนอก หรือ ขอไปประกวดดนตรีที่เมืองนอก ขอทดลองทำบางโครงการที่มีความเสี่ยง ภาษาวันนี้ที่เรียกว่า Sandbox คิดว่าเป็นหน้าที่ของกองทุนกลุ่มแรก

อันที่สองมันจะลงไปเติมในกลุ่มที่มีโอกาสที่จะทำเป็นกลุ่มธุรกิจได้ เราจะร่วมสนับสนุนไปเติมในโครงการเหล่านั้น ให้เกิดมีความหลากหลายในวิธีคิดที่มากขึ้น เช่น คนเขียนบท หนึ่งปีมันมีค่าใช้จ่าย ต้องมีเงินที่ไปอุดหนุนให้เขามีชีวิตอยู่ได้ของต้นทาง หรือ นักออกแบบ ที่ช่วงแรกต้องให้มีทุนที่ดี สองกลุ่มแรกเราควรต้องโฟกัสมากขึ้น ในกลุ่มเดิมมีหลายกองทุนที่มีความเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์ งานวิจัย NIA ถ้าเราไปปรับกองทุนเหล่านี้ให้ตอบโจทย์งานสร้างสรรค์มากขึ้น

นพ.สุรพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า เรื่องกองทุนเป็นเรื่องที่นึกอะไรไม่ออกแล้วตั้งกองทุน ตนคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหามากในการใช้ งบประมาณเป็นการตั้งกองทุนที่ไม่มียุทธศาสตร์ เรางบทุนวิจัยเยอะแยะเต็มไปหมดแต่ไม่ตอบสนองยุทธศาสตร์อะไร ตนคิดว่าในเรื่องของกองทุนมาจากเงิน งบประมาณแน่นอน แล้วจะใช้กองทุนเพื่อประโยชน์อะไร มันต้องมียุทธศาสตร์ เป้าหมายชัดเจน ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป ถ้าบอกว่าช่วงนี้เราต้องการพัฒนานักเขียนบท เป้าหมายคืออะไร

คนที่ชี้เป้าดีที่สุดคือคนในอุตสาหกรรมไม่ใช่เอาเจ้าหน้าที่รัฐ อธิบดี หรือ ข้าราชที่ไม่ได้มีความเข้าใจมากำหนดทิศทางในอุตสาหกรรมนี้ และแน่นอนว่าจะต้องไม่ใช่คนในวงการที่อยู่กันยาวนาน โลกมันค่อยๆเปลี่ยนไปฉะนั้นก็เรียนว่าคือ เรื่อง ของกองทุนสำคัญมากที่สุดต้องมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน คนที่มาร่วมในการจัดสรรกองทุน ควรเป็นภาพเอกชน ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น

แต่ประเด็นที่อยากจะขยายมากกว่าก็คือว่าจริงๆแล้วเงินจำนวนมากมันอยู่ข้างนอก นอกระบบงบประมาณก็คือเงินจากภาคเอกชน ฉะนั้นทำอย่างไรให้มีเงินที่มาสนับสนุนในแง่ศิลปะร่วมสมัย ภาพยนต์โดยที่ไม่จำกัด สิ่งที่เราทำคือ ทำให้โอกาสที่จะระดมทุนเพื่อสนับสนุนให้ง่ายขึ้น ในแง่ของ Crowdfunding ทำให้ง่ายกว่านี้ เรื่องการที่มีบทดีๆ สามารถที่จะไปขอทุนจากธนาคารง่ายกว่านี้ เงินกู้ แปลงทรัพย์สินเป็นทุน เอาที่ดินไปกู้ได้ มันควรที่จะมีบทดีๆที่สามารถไปกู้ได้ เป็นต้น

หรือว่า ถ้าหากเราสามารถจะพัฒนาในแง่ศิลปะของไทย Soft power แล้วกลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนระดับโลก นักลงทุนทุกคนอยากลงทุนถ้าหากเห็นแล้วว่านี่มีโอกาสทางธุรกิจ ถ้าหากเราพัฒนาศิลปะ และ Soft power ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกอยากที่จะมาลงทุนด้วย นั่นคือโอกาสมากมาย มหาศาล ทำอย่างไรที่จะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาศิลปะและอุตสาหกรรม ฆoftpower ของไทยได้อย่างสะดวก

สิทธิประโยชน์ใดๆที่ภาครัฐจะจัดสรรได้ก็ทำตรงนั้นไป เงินทุนของรัฐไม่ได้มีเยอะมากมาย เงินทุนเอกชนมีจำนวนมากที่อยู่นอกงบประมาณ ส่วนเงินทุนของรัฐควรเป็นเงินทุนตั้งต้นที่พัฒนาชี้เป้า ว่าเราต้องการพัฒนาจุดไหน แล้วพอเติบโตแล้วสิ่งที่จะตามมาคือเงินทุนที่มาจากภาคเอกชนข้างนอกทั้งในและต่างประเทศ

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน