อดีตแกนนำ กลุ่มพิราบขาว 2006 จี้ กกต.เร่งสอบคุณสมบัติ พิธา ปมหุ้นสื่อภายใน 15 วัน ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เชื่อหลักฐานเพียงพอ

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำ กลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือขอให้ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครเป็น ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) จากการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยนายนพรุจ กล่าวว่า ขณะนี้พยานหลักฐานน่าจะครบถ้วนเพียงพอแล้วในการตรวจสอบ อีกทั้งมีผู้ยื่นร้องเรียนหลายคนแล้ว ก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป แต่ยังไม่ดำเนินการจึงมาจี้ให้ กกต.เร่งพิจารณามีมติภายใน 15 วัน

โดยวันนี้ได้นำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.เชื่อว่าเพียงพอต่อการวินิจฉัย ประเด็นคือการเลิกกิจการหรือไม่เลิกกิจการของบริษัท ไอทีวี การถือครองหุ้นสื่อและจำนวนหุ้นของนายพิธา ซึ่งเห็นว่ากิจการอาจจะเลิกในบางส่วน แต่ยังไม่ได้เลิกประกอบการ อีกทั้งมีเอกสารเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 มีการรายงบการเงินประจำปี แสดงให้เห็นว่ากิจการไม่ได้เลิกแต่มีการหยุดประกอบกิจการบางส่วน หยุดซื้อขายหุ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยคำสั่งตลาดหลักทรัพย์

ดังนั้นหาก กกต.มีมติว่านายพิธา ถือหุ้นจริงและผิด ดังนั้นการรับสมัคร ส.ส.ของนายพิธา ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2562 และต้องตัดสินตั้งแต่ปี 2562 และการเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเป็นโมฆะ ทั้งนี้ตนได้ยื่นให้ กกต.พิจารณาสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายพิธาตั้งแต่ 2562 และ 2566และสถานะหัวหน้าพรรคในการลงนามรับรองส่งผู้สมัครของพรรค กรณีรู้อยู่แล้วขาดคุณสมบัติกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งเข้าข่ายขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ใน ส.ส. มาตรา 42 และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) รวมทั้ง กกต.ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคก้าวไกลด้วย

นายนพรุจ กล่าวอีกว่า หากก่อนหน้านี้ กกต.ตัดสิทธิก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ที่โดนตัดสินต้องไปขอคืนสิทธิจากศาลฎีกา เมื่อ กกต.มาพิจารณาหลังเลือกตั้งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าจะมีการตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งนายพิธาตั้งแต่ปี 2562 หรือไม่ จะเรียกค่าตอบแทนและผลประโยชน์จากการเป็น ส.ส. คืนหรือไม่ รวมถึงการลงนามรับรองให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งพรรคสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่

“ขอให้ กกต.มีมติชี้ภายใน 15 วัน เดิมการตรวจสอบคุณสมบัติทำภายใน 7 วันหลังจากรับสมัคร แต่เลยนานมาแล้ว และความเสียหายเกิดขึ้นกับ กกต.เอง เพราะว่านายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค และมีกระแสเกี่ยวกับประชาชน ดังนั้นการตัดสินของ กกต.มีผลต่อความขัดแย้ง มีผลต่อประชาชนหลายภาคส่วน” นายนพรุจ กล่าว

เมื่อถามว่านายพิธาได้แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.แล้วนั้น ทนายนพรุจกล่าวว่านายพิธาทราบมานานแล้ว แต่ให้สัมภาษณ์สื่อว่าพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ 2549 เพราะฉะนั้นหุ้นจะตกถึงนายพิธาทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 รวมทั้งเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1732 จะต้องโอนสิทธิหรือแจ้งการโอนหุ้น ผลประโยชน์ไปยังทายาทคนอื่นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีเว้นแต่ศาลสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งนายพิธานั้นได้ทราบอยู่แล้ว

อีกทั้งกรณีนี้ต้องตีความว่าบริษัทไอทีวี เลิกกิจการแล้วหรือยัง และมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ รวมถึงนายพิธาทราบหรือไม่ว่ามีถือหุ้นหรือทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของบิดา หากดูในการจดรายงานจะมีชื่อของนายพิธาทุกปี มีการเชิญผู้ถือหุ้นประชุม มีการแสดงงบการเงิน รายได้กำไรผู้ถือหุ้น มีการลงนามรับรองการประชุมชัดเจน จึงถือว่ายังไม่มีการเลิกกิจการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน