เรืองไกร ยื่น กกต. ตรวจสอบ 8 พรรคร่วมกันเซ็น เอ็มโอยู ตั้งรัฐบาล เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ ยันไม่ได้จ้องร้องแค่พิธา

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เข้ายื่นต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบ 8 พรรคที่ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็โอยู) ตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 เข้าข่ายผิดมาตรา 28 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเซ็นเอ็มโอยูของ 8 พรรค ซึ่ง กกต. ควรจะทราบว่าการเซ็น เอ็มโอยู ที่ผ่านมามีหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคเซ็นลงนาม ตนได้เห็นก็นึกไปถึงว่ารัฐธรรมนูญได้ระบุให้ ส.ส. ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย

การที่ไปลงนาม ตามมาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ห้ามพรรคการเมืองไม่ให้กระทำการ เพราะสิ่งที่ไปลงนาม ก็เท่ากับไปยอมรับเงื่อนไขในการทำกิจกรรมทางการเมืองจากอีก 7 พรรคเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้มันจะเข้าข่ายหรือไม่ จึงอยากให้ กกต. ตรวจสอบ เพราะ 7 พรรคที่มาเซ็นลงนามกับพรรคก้าวไกลไม่สามารถจะเป็นสมาชิกพรรคได้

โดยการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรค 7 พรรค เป็นไม่ได้แน่นอน คนคนหนึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคซ้อนกัน 2 พรรคไม่ได้ เท่ากับยอมให้ 7 พรรคตกลงเงื่อนไข ที่ผ่านมาเราดูธรรมเนียมปฏิบัติการตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ก็แค่จับมือและแถลงข่าว ไม่มีการเซ็นเอกสารอะไร ฉะนั้น ตนจึงย้อนไปนึกถึงลงนาม เอ็มโอยู สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายนพดล ปัทมะ นั่นมันจะมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า หลักฐานอย่างนี้ไม่ใช่ดูแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ซึ่งตนได้ไปดูข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เรื่องที่ว่าหัวหน้าพรรคจะไปเซ็นเอ็มโอยู กับใครได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีปรากฏ แต่พอมาดูพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คนที่เป็นหน้าหน้าพรรคเป็นตัวแทนพรรคก็เท่ากับได้รับอาณัติมาจากสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การเข้าข่ายการถูกยุบพรรคได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กรณีการถือครองหุ้นสื่อนั้น เป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะตัว แต่กรณีนี้เป็นลักษณะต้องห้ามการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งเขาห้าม ก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของ กกต.ว่าจะเห็นเหมือนที่เราเห็นหรือไม่

เมื่อถามว่าการยื่นเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่ยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไข ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งกันและกันเข้ามาครอบงำ โดยเอกสารที่เซ็นทั้ง 8 รายชื่อลงนามโดยหัวหน้าพรรคทั้งหมด เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการขาดคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่เป็นเรื่องพรรคการเมืองฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่ แล้วจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่

ตนมีข้อเท็จจริง และกฎหมายอ้างอิงให้มาตรวจสอบ ส่วนรายละเอียดในข้อตกลงเอ็มโอยู บางประเด็นที่บางพรรคไม่ได้ปฏิบัติตาม จะร้องแค่พรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทั้ง 8 พรรคร่วมกระทำ

เมื่อถามว่าคิดว่าการร้องในครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขให้ส.ว.ไม่ตัดสินใจโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวที่จะเป็นเหตุให้ส.ว.โหวตหรือไม่ให้นายพิธา

เมื่อถามว่าการร้องเรียนกรณีนายพิธา มีเจตนาเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า มีเหตุตรวจสอบตนก็ยื่นร้อง ไม่มีเหตุแล้วมาปั้นพยานหลักฐานเท็จนั้นไม่ใช่ การออกมาทำหน้าที่ถึงทำในฐานะนอกสภา ตนทำมาตลอด 10 กว่าปี เรื่องร้องเรียนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนร้องมากที่สุด ทั้งเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี การถวายสัตย์ฯ และเรื่องบ้านพักทหาร

รองลงมาคือการร้องพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเฉพาะเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน ซึ่งตนได้ร้องย้ำๆมาตลอด ถ้าวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นรักษาการนายกฯ แล้วไปทำผิดตนก็ร้อง หรือนายวิษณุ เครืองาม ทำผิด ตนก็ร้องถ้ามีเหตุต้องร้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน