ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ภูเก็ต เปิดข้อมูล ชาวบ้านร้อง ทร.ยึดที่อุทยาน3.7พันไร่ สร้างฐานทัพใหม่ มีแผนผลักดันชาวบ้านออกพื้นที่ภายใน มิ.ย.นี้ วอนรัฐบาลหยุดดำเนินการชั่วคราวจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

วันที่ 3 มิ.ย.2566 นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ว่าที่ ส.ส.ภูเก็ต เขต 3 พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า มีประชาชนในพื้นที่สวนป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เข้ามาร้องเรียนถึงการถูกเจ้าหน้าที่กองทัพเรือเข้าไปในพื้นที่ในชุดเครื่องแบบลายพรางและอาวุธปืน เข้าไปบอกชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ บางรายทหารได้มีการเข้าไปปักเขตพื้นที่ พ่นสัญลักษณ์ลงบนต้นยางของชาวบ้าน ทั้งที่ประชาชนหลายรายมีโฉนดที่ดินอย่างถูกต้อง ทำให้ประชาชนเกรงว่าจะเสียสิทธิในที่ดินทำกินไปเป็นพื้นที่ทหาร

ปัญหาเกิดขึ้นจากวันที่ 1 มี.ค. 2566 อธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีการเซ็นมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับกองทัพเรือ ภาค 3 เพื่อใช้ตั้งฐานทัพของกองพันต่อสู้อากาศยาน ภายหลังจากการเซ็นมอบพื้นที่ดังกล่าว เจ้าที่ทหารจึงได้เข้าไปทำการปักหลักเขตแดนและเตรียมการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ โดยที่ประชาชนไม่รู้มาก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนพื้นที่ป่า และพื้นที่ทำกินให้เป็นกองทัพ

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า ทางเสนาธิการกองทัพเรือ เปิดเผยว่าความจริงแล้วกองทัพเรือต้องการพื้นที่เพียงประมาณ 500 กว่าไร่ แต่กรมป่าไม้กลับมอบพื้นที่อุทยานสวนป่าบางขนุนให้ทั้งหมด 3,700 ไร่ โดยฝั่งทหารอ้างว่า พื้นที่ที่เหลือทหารจะเข้ามาทำการอนุรักษ์ เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีกำลังคนไม่เพียงพอ

ปัญหาการบุกรุกในพื้นที่อุทยานสวนป่าบางขนุนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ แต่ประชาชนในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยเดิมที่ต้องการอนุรักษ์ป่าบางขนุนให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ และประชาชนที่เข้าไปทำกินใหม่ ด้วยความที่พื้นที่ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ทำให้ในอนาคตควรมีการพิสูจน์แนวเขตที่ดินอย่างถูกต้อง และมีการทำประชาพิจารณ์ว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการใช้สวนป่าบางขนุนแห่งนี้ควบคู่กับการอนุรักษ์ในฐานะป่าต้นน้ำอย่างไร

“ประชาชนต้องการการประชาพิจารณ์และทำให้สวนป่าบางขนุนเป็นป่าชุมชน แต่กรมป่าไม้กลับยกพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นพื้นที่ทหารและจะมีการสร้างฐานทัพเรือ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งสองกลุ่มรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เพราะแทนที่พื้นที่จะเป็นป่าอนุรักษ์กลับถูกสร้างให้กลายเป็นฐานทัพของทหารแทน” นายฐิติกันต์กล่าว

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า ตนเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้ทหารหยุดการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งการขับไล่ประชาชน ล้อมรั้วพื้นที่ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ 2.ต้องมีการพิสูจน์สิทธิและเดินแปลง ว่าตรงไหนเป็นที่โฉนด ตรงไหนเป็นพื้นที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ และตรงไหนเป็นที่ดินของรัฐ

3.ต้องมีการประชาพิจารณ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการตั้งฐานทัพว่าคนในพื้นที่ต้องการให้มีฐานทัพเรือมาตั้งในพื้นที่นั้นหรือไม่ และ 4.สิ่งแวดล้อม พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าต้นน้ำ ไม่ควรมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ

“บริเวณใกล้เคียงกันมีท่าเรือทัพละมุ ที่มีพื้นที่เหลือ จนมีการเอาพื้นที่บางส่วนไปทำสนามกอล์ฟ ดังนั้นผมจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าต้นน้ำของประชาชนมาสร้างเป็นฐานทัพเรือในเวลานี้” นายฐิติกันต์กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน