ปริญญา ข้องใจ ทำไม ‘วิษณุ’ อ้างมาตรา 82 แบบไม่ถูกต้อง พูดโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนหรือมีเจตนาใด เหมือนเป็นการทำทางไว้หรือไม่ ลั่นเรื่องหุ้นไอทีวีจบแล้ว

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2566 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการ “อยากมีเรื่องคุย” ทางข่าวสดออนไลน์ ต่อกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ความเห็นทางกฎหมาย อ้างมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ระบุหากมีการรับรองผลเลือกตั้งส.ส.แล้ว และมีส.ส. 50 คนเข้าชื่อส่งเรื่องสอบคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จากกรณีถือหุ้นไอทีวี ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายพิธาก็จะเข้ารับการโหวตชื่อเป็นนายกฯ ไม่ได้ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร

นายปริญญา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายวิษณุ ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนพูด หรือท่านมีเจตนาใด หลายครั้งในช่วงหลังๆ ตนไม่แน่ใจว่าเป็นแบบไหน เพราะพูดมามันไม่ตรงทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการเลือกนายกฯ เกิดขึ้นหลังจากศาลสั่งนายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ปี 2562 ตอนเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายธนาธร ให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกเป็นนายกฯ แปลว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันเพราะการถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลรับคำร้องไว้เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าศาลพิพากษาแล้ว เพียงแต่ถ้าถูกเลือกมาแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ไม่ได้ จนกว่าศาลจะยกคำร้อง

“ดังนั้น ขั้นตอนการเลือกไม่มีปัญหา รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ ผลของศาลรับคำร้องคือหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้ห้ามการถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ว่าอาจารย์เขาไม่ตรวจสอบข้อมูล หรืออาจารย์เขามีเจตนาใด” นายปริญญา กล่าว

นายปริญญา กล่าวต่อว่า เหมือนกับเรื่องมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง คิดว่ากกต.ไม่ทราบหรือว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีนายธนาธร ซึ่งเขาทราบ แต่ที่เขาทำในคดีอาญา เหตุผลคืออะไร ขอเรียนถาม กกต.ว่าทำไมต้องทำ ในเมื่อศาลฎีกาวินิฉัยในคดีหุ้นของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ทำไมไม่เอามาใช้ในคดีของนายพิธา ซึ่งมีหุ้นไอทีวี 0.0035% น้อยมากจนกระทั่งไม่สามารถสั่งการอะไรได้เลย คนสั่งการได้คือบริษัท อินทัช

ส่วนใครสั่งอินทัชได้ ก็ไปดูต่อว่าใครถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่คนถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดก และถือแค่ 0.0035% และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 ชัดเจน แม้จะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อ แต่ไม่ได้ประกอบการสื่อจริง ไม่ได้มีรายได้ และคำวินิจฉัยของศาลฎีก ในคดีนายชาญชัย ก็จบแล้วว่าไม่มีมูล ไม่ได้ถือหุ้นสื่อ แต่กลับมาตั้งสอบอาญา มาตรา 151 เจตนาคืออะไร ถามว่าเหตุผลส.ว.ที่จะไม่ยกมือให้กับคนที่เป็นว่าที่นายกฯ รวบเสียงได้เกินครึ่ง เหตุผลที่จะไม่ยกมือคืออะไร

“ผมมองว่าสิ่งที่นายวิษณุพูด เหมือนกับทำทางไว้ให้หรือเปล่า เพราะหลายครั้งอาจารย์พูดแล้วทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น นักกฎหมายฟังแล้วก็สงสัยว่า ในใจอาจารย์คืออะไร เพราะข้อกฎหมายมันอีกอย่าง แต่อาจารย์พูดอีกอย่าง ถ้าเจอผมก็จะถาม กกต.ก็เช่นกัน ทำไมดำเนินคดี 151 เพราะมันชัดเจนว่าไม่ใช่หุ้นสื่อ ถ้าดูคำวินิจฉัยของศาลในคดีที่ผ่านมา และในคดีนายชาญชัย หากเห็นต่างกัน ขอให้ศาลวินิจฉัยก่อนค่อยดำเนินคดี การข้ามขั้นตอนแบบนี้ เจตนาของ กกต.คืออะไร ผมก็สงสัย”








Advertisement

เมื่อถามว่าพิรุธพวกนี้เป็นขบวนการสกัดนายพิธา หรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า นายพิธา จะเป็นนายกฯ ไม่ได้มี 2 เรื่องคือ มีคุณสมบัติต้องห้าม คือการทำไอทีวีให้กลายเป็นสื่อมวลชน และทำให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้เป็นนายกฯ เป็นส.ส.ไม่ได้ 2.เสียงไม่ถึง เสียงส.ส. 312 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียง ซึ่งเสียงหลักๆ ต้องได้จากส.ว. และเหตุส.ว.จะไม่โหวตให้คือ นายพิธาถือหุ้นสื่อ โดนคดีอาญา โดนกกต. ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

เป็นเกมสกัดนายพิธาหรือไม่ ถ้าผิดจริง ถือหุ้นสื่อจริงก็ให้เป็นไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่ ไอทีวีไม่ใช่สื่อ หยุดมา 17 ปีแล้ว มาเล่นงานเขาในเรื่องหยุมหยิม ทั้งที่ถือในนามผู้จัดการมรดก ถ้าไม่ผิดแต่จะทำให้ผิดให้ได้ ตนมองว่าไม่ถูกต้องแล้ว

“ขอเสนอ กกต.ว่าต้องฟังหลักฐานต่างๆ คลิปเปิดดูเลย งบการเงินผิดปกติ เลขาธิการป.ป.ช.ก็บอกมาแล้ว หลักฐานก็ยื่นมาแล้วในฐานะผู้จัดการมรดก ทุกอย่างจบแล้ว” นายปริญญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน