คำผกา ร่ายยาวประวัติศาสตร์ ‘วันชาติ’ แสดงความเห็นหลัง โรม เสนอเปลี่ยนให้เป็น 24 มิ.ย. ชี้ การเป็นนักกิจกรรม กับ นักการเมืองนั้นต่างกัน

กลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงในวงกว้าง สำหรับ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล หลังเสนอให้มีการเปลี่ยนวันชาติของประเทศไทยเป็น 24 มิ.ย. จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ แม้ทางเจ้าตัวจะออกมาชี้แจงว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการถกเถียงมานานแล้ว แต่ที่ดราม่าในช่วงนี้ อาจเพราะมีความมุ่งหมายทางการเมือง

ล่าสุด อั๋น ภูวนาท & แขก คำผกา มานั่งพูดคุยกันในหัวข้อดังกล่าวในรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ทาง ข่าวสดออนไลน์

คำผกา กล่าวว่า ตนเคยพูดเรื่องนี้ไว้ตอนวันที่ 23 มิ.ย. 2555 หรือเมื่อ 11 ปีก่อน ซึ่งก่อนวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย ในอดีตวันที่ 24 มิ.ย. ถูกให้เป็นวันหยุดราชการในฐานะ “วันชาติ” แล้วคุณแม่ตนที่เกิดวันที่ 24 มิ.ย. ก็ชื่อว่า “วันชาติ” มันเป็นสักขีพยานว่าครั้งหนึ่งวันชาติมีจริง ซึ่งไม่ได้มีจริงแค่เขียนในกฎหมาย แต่ลงไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

เกือบทั้งหมดวันชาติของทุกประเทศในโลกใบนี้ เป็นวันประกาศเอกราช วันที่เปลี่ยนจากไพร่มาเป็นประชาชน เขาจึงเรียกว่า “วันชาติ”

ทีนี้ของประเทศไทย วันที่เรามีการบันทึกว่าเป็นวันชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี 1910 ทูตสเปนมาถามรัชกาลที่ 6 ว่า “วันชาติของสยามคืออะไร ?” ซึ่งเวลานั้นเรายังไม่ได้ตั้ง จึงใช้วันจักรี (6 เม.ย.) พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจเปลี่ยนมาเป็นของราษฎร เขาไม่ได้ประกาศให้ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติทันที เหตุหลังปี 2475 เรายังไม่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ เรายังเป็นกึ่งเมืองขึ้น เพราะอำนาจศาลเราเป็นทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส นั่นคือการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ประเทศใดที่ไม่มีเอกราชทางการศาล หมายความว่ายังไม่มีเอกราช ซึ่งกว่าเราจะได้เอกราชทางการศาลก็ต้องรอถึงปี 2481 เมื่อมีเอกราชแล้ว จึงต้องมีวันชาติ จอมพล ป พิบูลสงคราม จึงใช้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จน จอมพล ป ถูกเนรเทศไปแล้ว มาสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาบอกว่า เราเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็มีคำอธิบายชัดเจน ก่อนเปลี่ยนวันชาติมาเป็น 5 ธ.ค. จนถึงปัจจุบัน

ตนอยากบอกนักการเมืองทุกคนว่า ดีกรีการแสดงออกมูฟเมนต์ทางการเมือง นักการเมือง แสดงออกได้น้อยกว่า ปัญญาชนสาธารณเสมอ สมัยที่โรมเป็น Activist (นักกิจกรรม) คุณสามารถพูดได้เต็มที่ แต่เมื่อคุณกลายมาเป็นนักการเมือง ต้องลดโทนลงมา เพราะตอนนี้คุณเป็นผู้ที่จะออกกฎหมาย ซึ่งคน 60-70 ล้านคนเชื่อและคิดแตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เพิ่งผ่านจุดวิกฤตทางการเมือง ที่แบ่งขั้วแบ่งข้าง ทุกย่างก้าวนักการเมืองยิ่งต้องก้าวอย่างระมัดระวัง และเดินหน้าต่อไปได้โดยถือธงประชาธิปไตย








Advertisement

เพราะฉะนั้นจุดไหนที่ร่วมกันได้ โกยเข้ามาก่อน จุดไหนที่แหลมคม ไม่ใช่ว่าลืมหรือไม่นึกถึงมัน แต่เก็บมันไว้อีกกล่องหนึ่ง แล้วรอให้เรามีความชอบธรรมทางการเมือง รอให้เราได้รับความไว้วางใจมากขึ้น ถึงตอนนั้นสังคมจะพร้อมเห็นความเปลี่ยนแปลง มูฟของนักการเมืองคือ มีมวลชนกดดันผลักดันให้เราเปลี่ยนกฎหมายนี้ เราจึงเปลี่ยนเพราะประชาชนเรียกร้อง ไม่ใช่เห็นว่าเรื่องนี้ดีฉันจะเปลี่ยน การเป็นนักกิจกรรมมาเป็นนักการเมือง คุณอาจลืมไปว่าเกมมันต้อง Compromise (ประนีประนอม) เพื่อให้เรื่องบางเรื่องไปต่อได้

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน