วิษณุ เชื่อได้ประมุขนิติบัญญัติ ไม่เกิน 12 ก.ค. คาดแย่งตำแหน่งกันเพราะเหตุอื่น ไม่เกี่ยวกับปมเลือกนายกฯ ชี้โหวตนายกฯ ยืดเยื้อได้ เพราะต้องได้เสียงเกิน 376

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ตามกฎหมายต้องเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน หรือประมาณวันที่ 12 ก.ค. หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งไม่เคยที่จะเลือกประธานสภาไม่ได้ เพราะใช้เสียงข้างมากของสภา ต่างกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้เสียงเกิน 376 จากสองสภา

ซึ่งหากไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ จะเป็นหน้าที่ของประธานสภาเป็นผู้กำหนด โดยไม่มีกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับนัดหมายและการตัดสินใจของประธานสภา

นายวิษณุ กล่าวถึงขั้นตอนการเสนอรายชื่อในการเลือกประธานสภาว่า เสนอรายชื่อขึ้นมาพร้อมกันได้หลายคน เช่น พรรคที่หนึ่งเสนอ พรรคที่สองเสนอ พรรคที่สามจะเสนอก็ได้ แต่ต้องเป็นในคราวเดียวกัน และตัดสินโดยเสียงโหวต ใครได้เสียงข้างมากก็ได้ตำแหน่งประธานสภา ดังนั้น โอกาสที่จะเลือกประธานสภาไม่ได้ แทบจะไม่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่าหากไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ การทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการยาวนานจะมีผลกระทบอะไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ประชาชนอยากได้รัฐบาล อยากเห็นความชัดเจน การเป็นรัฐบาลรักษาการมีหลายอย่างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการใช้งบกลางที่มีจำกัด ที่สำคัญงบประมาณออกช้า หากได้รัฐบาลเร็วก็แถลงนโยบายและเสนอกฎหมายได้เร็ว

ส่วนประธานสภามีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภามีอำนาจกำหนดวันเลือกนายกฯ ส่วนถึงเวลาจะเลือกอย่างไร มีกี่ชื่อ จะเป็นเรื่องของสมาชิก

เมื่อถามว่าหากต้องการเปลี่ยนเกมก็ใช้เสียงข้างมากของสมาชิก หากอันดับ 1 ไม่ได้รับเสียงโหวตหนุนเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในเวลานั้นส.ส.จะต้องปฏิญาณตนแล้ว จึงจะมีฐานะเหมือนการประชุมสภาปกติทั่วไป ใครเสนอมาแล้วอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็เสนอแข่ง ประธานสภาต้องให้โหวตว่าจะเอาแบบไหน โดยใช้เสียงข้างมากในสภาตัดสิน

ส่วนที่แย่งตำแหน่งประธานสภากัน ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเลือกนายกฯ แต่หมายถึงการทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่างๆ การนัดวันประชุม เมื่อจบเลือกนายกฯแล้ว ประธานสภายังมีอำนาจ แต่ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาล เปฺ็นอย่างที่นายชวน หลีกภัย ได้พูดไว้ จะชี้เป็นชี้ตายไม่ได้ บางเรื่องประธานสภาตัดสินใจเองได้ แต่บางอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก อย่างน้อยประธานสภาก็มีอำนาจสั่งปิดประชุม

เมื่อถามว่าในเรื่องกฎหมาย ประธานสภามีอำนาจตัดตอนได้ทุกกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 112 นายวิษณุ กล่าวว่า จะเป็นอำนาจประธานชี้ขาดตอนแรกว่าจะรับหรือไม่รับ หากมองว่าเป็นการเสนอญัตติที่ผิดกฎหมาย ก็ไม่รับได้ ส่วนเรื่องนี้เป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่ใครได้ก็ดีทั้งนั้น

เมื่อถามว่าคนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ลาออกในช่วงนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีว่าถ้าเขาเลือกแล้วไม่ต้องรับ หรือทำให้ตัวเองขาดคุณสมบัติ แต่จะไปลาออกไม่ได้ เพราะตั้งแต่ตอนสมัครระบุไว้แล้วว่าถอนตัวไม่ได้ ยกเว้นเสียชีวิตหรือขาดคุณสมบัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน