พิธา ยังมีสิทธิ์ได้รับเสนอชื่อ ชิงนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เทียบปี 62 ยังเสนอชื่อ ธนาธร ได้ แม้ศาล รธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 12 ก.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

หลัง กกต.ใช้เวลากว่า 3 วัน รับฟังและพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กกต.แล้ว เห็นว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่า มีเหตุตามที่มีการยื่นคำร้องจริง โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลงนามในคำร้องและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. นำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามทันทีว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. ซึ่งมีวาระพิจารณาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะสามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่มีมติรับหรือไม่รับคำร้อง พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในการประชุมวันนี้

ทั้งนี้ หากย้อนดูการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 พบว่า หลังการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูก กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 98(3) จากการถือครองหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยวันที่ 23 พ.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 มิ.ย.62 รัฐสภาประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้น นายธนาธร ยังคงได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกฯ ได้ แม้ผลโหวตนายธนาธร จะแพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ 244 เสียงก็ตาม ซึ่งครั้งนั้น ส.ว. 249 คน ลงคะแนนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ทั้งหมด โดยไม่มีใครแตกแถว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน