ส.ว. ไม่เห็นด้วยเสนอชื่อ ‘พิธา’ นั่งนายกฯ เหตุมีลักษณะต้องห้ามปมหุ้นสื่อ ไม่รอศาลวินิจฉัยคนทั่วไปย่อมตัดสินได้ ชี้ หากสภาดึงดันลงมติวันนี้อาจถูกดำเนินคดี ฐานปฏิบัติหน้าที่ขัดกม. โววุฒิสภามีเสียงมาจากปชช.เหมือนส.ส. มีสิทธิ์เลือกนายกฯได้

วันที่ 13 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยหลังจากเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ได้เปิดให้ส.ส.และส.ว.อภิปราย

ต่อมาเวลา 10.40 น. นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. อภิปรายว่า วันนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นวันที่สมาชิกรัฐสภาจะทำหน้าที่สำคัญ โดยพิจารณาคนที่มีความเห็นชอบที่จะเป็นนายกฯ เพราะพวกเรามีที่มาแตกต่างกันกับส.ส. แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ก็บัญญัติไว้พวกเราทั้งสองฝ่าย ย่อมถือว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่การทำหน้าที่ของเราต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติหรือไม่ถูกครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ประเด็นปัญหาที่เราจะพิจารณาในวันนี้ เป็นการใช้สิทธิ์และหน้าที่ของเรา โดยส.ส.และส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราต่างมีฐานที่มา มาจากประชาชน เพียงแต่แตกต่างกันในด้านวิธีการและกระบวนการเท่านั้น ตนให้เกียรติและรับฟังความเห็นของส.ส. แต่การพิจารณาวันนี้ตนต้องให้ความเคารพและฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ตนเคารพและให้เกียรติท่าน และหวังว่าท่านจะเคารพการทำหน้าที่ของส.ว.เช่นกัน ซึ่งไม่ว่าเราจะโหวตให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบอย่างไร ท่านคงเคารพกฎกติกาของกฎหมาย ดังนั้น การที่ตนจะเสนอในที่ประชุมในวันนี้ จึงเป็นความเห็นโดยสุจริตของตน โดยไม่ได้มีอคติส่วนตัวใดๆ ต่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า การเสนอชื่อนายพิธา ครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นการเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยสาระสำคัญว่าวันนี้เราอยู่ในโหมดการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บทเฉพาะกาล ฉะนั้น การเสนอชื่อแม้จะใช้มาตรา 272 ก็ตามแต่การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ก็อยู่ในบทมาตรา 159 ที่บัญญัติให้สภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งได้รับเห็นควรแต่งตั้งให้เป็นนายกฯได้ แต่บุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ซึ่งในมาตรา 160(6) ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 มีระบุไว้หลายข้อโดยเฉพาะ (3) ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

แต่เฉพาะกรณีของนายพิธา ที่ถูกเสนอชื่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ขัดต่อมาตรา 160 และมาตรา 98(3) เมื่อเป็นเช่นนี้การเสนอชื่อของส.ว.ที่เสนอชื่อนายพิธา ขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 136 จะเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ได้ จึงมีปัญหาว่าการเสนอชื่อบุคคลผู้นี้แล้วให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบนั้น เป็นการเสนอชื่อบุคคลโดยชอบหรือเป็นการเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่

“โดยคุณสมบัติของนายพิธาปรากฏชัดเจนเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาสมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธาได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) ซึ่งศาลได้ลงรับหนังสือทางธุรการแล้ว อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจากข้อสงสัยที่นายพิธา เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม เรื่องนี้เป็นความเห็นที่ยุติโดยกกต. แต่ในชั้นพิจารณาจของสภาฯ แห่งนี้เรามีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าการที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อนายพิธานั้น เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายและขัดข้อบังคับหรือไม่” นายประพันธุ์ กล่าว

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าอาจมีหลายคนอาจเห็นแย้งว่าขณะนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติไม่ได้ ซึ่งตนมองว่าปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติของส.ส. ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกับคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่วิญญูชนหรือคนทั่วไปก็วินิจฉัยได้ ดังนั้น ท่านคนนั้นก็มีวิจารณญาณวินิจฉัยตัวเองได้ กฎหมายจึงไปเขียนไว้ในมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วและจงใจไปสมัครส.ส. จึงเป็นความผิด

ส่วนที่กฎหมายให้ศาลวินิจฉัยนั้น เป็นเรื่องที่กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของท่านสิ้นสุดแล้วแต่ท่านไม่ยอมรับ ไม่รู้ตัว จนต้องให้สมาชิกมาเข้าชื่อแล้วยื่นต่อศาลเท่านั้น ดังนั้น การที่สมาชิกเสนอชื่อบุคคลดังกล่าว และตนนำเรื่องนี้มาพูด เพื่อชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อมาให้สมาชิกรับรอง และให้ความเห็นชอบเป็นบุคคลที่สภาไม่อาจรับไว้พิจารณาและโหวตหรือลงคะแนนเสียงให้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

หากสภาฯ ให้ความเห็นชอบหรือลงมติต่อไปย่อมขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ และสมาชิกรัฐสภาที่จะได้ร่วมกันพิจารณาและลงมติ ย่อมได้ชื่อว่ารู้อยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ท่านก็ยังจงใจกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับรัฐสภา ซึ่งการทำมติและให้ความเห็นชอบเรื่องนี้จะเป็นปัญหาและความผิดร้ายแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน

หากเรายังดึงดันที่จะยังลงมติจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ท่านอาจจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 231(1) คือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ตนจึงไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธาเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน