ธงทอง ชี้ชัด บทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ทำประชาธิปไตยเมืองไทย ผ่านไป 90 กว่าปี ยังไม่ก้าวเดินไปไหนเลย

วันที่ 14 ก.ค.2566 นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Tongthong Chandransu ระบุว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 มาได้ไม่นาน มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งที่สุดแล้วได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวออกแบบให้สยามมีรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร แต่มีสมาชิก 2 ประเภท อย่างละครึ่งหนึ่ง มีจำนวนเท่ากัน ประเภทหนึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน อีกประเภทหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง สมาชิกทั้ง 2 ประเภทประชุมร่วมกันในทุกวาระทุกประเด็น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ว่าไม่ทรงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ เพราะสมาชิกประเภทแต่งตั้งย่อมเป็นพรรคพวกของคณะราษฎรอยู่แล้ว ถ้าคณะราษฎรตั้งพรรคการเมืองแล้วไปสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับเลือกตั้งมาเพียงคนเดียว เมื่อนำมาบวกรวมกับจำนวนสมาชิกประเภทแต่งตั้งที่มีอยู่แล้วครึ่งสภา คณะราษฎรก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งไป เขียนกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่สุดท้ายแล้วพระราชวิจารณ์ข้อนี้ไม่เป็นผล รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงบทบัญญัติเช่นว่านี้ไว้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

ดังเหตุผลที่ทรงแถลงไว้ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ว่าไม่ต้องพระราชประสงค์ “ให้ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ …ใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

รัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับในเวลาต่อมา ถึงแม้มีวุฒิสภา แต่ก็ไม่มีฉบับใดที่มีบทบัญญัติให้อำนาจวุฒิสภามากมายถึงขนาดที่จะร่วมประชุมกับสภาผู้แทนราษฎร ในการให้ความเห็นชอบที่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่ง เพราะตามหลักวิถีประชาธิปไตยที่นับถือกันทั่วไปนั้น ประมุขของฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภา ย่อมมาจากความไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งหรือเรียกให้ไพเราะในบางโอกาสว่าการสรรหา ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศใดให้อำนาจไว้มากมายถึงขนาดดังกล่าวแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ดี ในชั้นที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่อมาได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีการยกร่างให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภา 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งสภาหนึ่ง และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งที่จำแลงมาในรูปของการสรรหาอีกสภาหนึ่ง เนื้อหาในส่วนที่เป็นบทถาวร เขียนตามหลักการทั่วไปของประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย คือนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือความเห็นของประชาชนนั่นเอง

ความพลิกผันเกิดขึ้น เมื่อต้องนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชนลงประชามติ มีการดำเนินการให้มีการลงมติใน “คำถามพ่วง” เกิดขึ้นแถมพกมาด้วย คำถามพ่วงข้อสำคัญคือการตั้งประเด็นถามว่าในช่วงเวลาที่แรกใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่าเป็นบทเฉพาะกาล มีเวลา 5 ปี จะให้ “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” เป็นที่ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบในการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ดีหรือไม่

น่าสังเกตว่าคำว่า “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” นั้น เป็นภาษาเทคนิคทางกฎหมายอย่างยิ่ง ประชาชนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่าหมายความว่า สภาผู้แทนราษฎรที่เขาเลือกตั้งเข้าไปจะไปประชุมร่วมกันกับวุฒิสมาชิกซึ่งมาจากการแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่สำคัญดังกล่าว








Advertisement

อีกทั้งขณะที่จะมีการลงประชามติ บุคคลใดที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเผชิญกับอำนาจรัฐที่ใช้กฎหมายแบบบิดเบี้ยว เพื่อปิดปากหรือปิดโอกาสไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรูปรอยความคิดในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ตั้งคำถามพ่วงด้วย การลงคะแนนเสียงประชามติคราวนั้น ในทางวิชาการและตามมาตรฐานสากล ต้องกล่าวว่าเป็นการลงประชามติที่ผิดเพี้ยนเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อคำถามพ่วงที่ไม่มีใครอ่านเข้าใจได้ ผ่านความเห็นชอบมาพร้อมกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งติไม่ได้ ได้แต่ชม ก็ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้ปรากฏผลดังที่เราได้เห็นอยู่แล้วในขณะนี้

ถ้าจะมีใครกล่าวอ้างว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ให้อำนาจ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกันเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบโดยการลงประชามติของประชาชนมาแล้ว เรื่องก็เป็นอย่างที่ผมแถลงมาข้างต้น
ผ่านไป 90 กว่าปี เรายังไม่ก้าวเดินไปไหนเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน