อาจารย์กฎหมาย ยืนยันชัด รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทาง กม.สูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน ที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ อ้างนั้นไม่ถูก

หลัง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรเพื่อไทย เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ โดยมีผู้รับรองด้วยการยกมือโดยไม่ตรงตามข้อบังคับ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งที่ 2

ทำให้ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วง ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาเสนอนายพิธา เป็นนายกฯ นั้นรัฐสภากำลังทำผิดข้อบังคับข้อที่ 41 ที่บัญญัตติว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน ขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติ

ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ได้มีการลงมตินี้ไปแล้ว โดยนายพิธาได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และข้อบังคับของรัฐสภามีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาจะต้องยึดถือปฏิบัติ

ต่อเรื่องดังกล่าว วันที่ 19 ก.ค.2566 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รวมถึงกฎหมาย แสดงความคิดเห็นระบุว่า รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน

การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่าการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน

โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี

ด้าน ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็น ท่านไปศึกษามาจากไหนเหรอครับว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเป็นกฎหมาย แล้วต่อให้คุณอัครเดช จาก รทสช. อ้างว่าข้อบังคับการประชุมเทียบเท่า พ.ร.บ. ซึ่งไม่ถูก แต่คำถามคือ รธน. กับ พ.ร.บ. อะไรใหญ่กว่ากัน กรุณาตอบ 100 คะแนนครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน