กรมควบคุมโรค ชี้ ‘หมออ๋อง’ โพสต์คราฟต์เบียร์ เข้าข่ายผิดกฎหมาย ถึงลบก็ไม่รอด ยันไม่เลือกปฏิบัติ ผิดก็ว่าไปตามผิด เผยโทษสูงสุดทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 15 ส.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีสอบถามถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โพสต์ภาพคราฟต์เบียร์ อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ สธ.เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมาย ว่า เรื่องนี้ต้องถามกรมควบคุมโรค เพราะเป็นผู้ถือกฎหมาย ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่เกี่ยวกับ สธ.

เมื่อถามย้ำว่าจะกำชับกรมควบคุมโรคให้ดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นกฎหมายที่กรมควบคุมโรคดูแลอยู่แล้ว เราไม่ไปก้าวล่วง

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กรมควบคุมโรค นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่โพสต์เชียร์คราฟต์เบียร์ เข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ห้ามผู้ใดโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด และมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 2563 ดังนั้น การที่หมออ๋องลงมาโพสต์ข้อความว่ามีเบียร์ยี่ห้อใน จ.พิษณุโลก ถือเป็นการโฆษณา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตามกฎหมายถือว่าเป็นความผิด ตรงนี้ถือเป็นความตั้งใจของหมออ๋อง เพราะโพสต์ยังคงปรากฏในโซเชียลมีเดีย

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เจตนาที่จะดำเนินการในเรื่องนี้และเข้าใจว่ามีกฎหมายนี้ มาตรานี้อยู่แล้ว แต่ต้องการให้เกิดกระแสพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น นำไปสู่การยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ห้ามเรื่องนี้ไว้ แต่เนื่องจากหมออ๋องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ย่อมต้องเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การมาทำแบบนี้เหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไปมิได้ หากคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกไม่ดี ก็ต้องไปใช้วิธีการและขั้นตอนตามกฎหมายกำหนดในการปรับปรุงแก้ไข แต่ขณะนี้กฎหมายบังคับใช้อยู่ จะมาอ้างด้วยเหตุผลกลใดไม่ได้

“อย่าลืมว่าเป็นคุณหมอ แม้จะเป็นสัตวแพทย์ก็ตาม แต่ก็น่าจะรู้และเข้าใจพิษภัยของสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีว่า ก่อให้เกิดโทษต่อสังคมเพียงใด มีคนเจ็บคนพิการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วเมาเยอะแยะมากมาย จะมาคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของการสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านเดียวไม่ได้”

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า วันนี้องค์การรักชาติรักแผ่นดิน ต้องมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพราะอัตราโทษค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เรื่องนี้ต้องดำเนินการให้เข้มงวดเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อประชาชนหรือผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

เมื่อถามว่านายปดิพัทธ์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือจากประชาชน นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ มีเยาวชนที่บรรลุนิติภาวะและยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นแฟนคลับเยอะ การที่แกนนำของพรรคมีพฤติการณ์ที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย และนำไปสู่การสนับสนุนการดื่มหรือการใช้ประโยชน์จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นข้อห้ามตามกฎหมาย ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ แล้วตนเองอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติแล้วไม่บังคับใช้กฎหมาย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในทางการใช้กฎหมาย ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องนี้ตนจะเกาะติดอย่างชัดเจนว่ามีบทลงโทษเรื่องนี้อย่างไร หากคณะกรรมการฯ สรุปว่าเข้าข่ายความผิดจริง จะเสนอเรื่องหรือร้องเรียนไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และส่งอัยการฟ้องต่อศาล

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า หากศาลมีคำพิพากษาออกมาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ตำแหน่งรองประธานสภาฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะหลุดทันทีตามมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคุณสมบัติ ส.ส. แม้ต้องคำพิพากษา แต่ไม่ถึงจำคุกก็ถือว่าต้องหลุดจากตำแหน่งแล้ว

“สุดท้ายถ้าหมออ๋องผิดโทษจะรอลงอาญา มีแค่โทษปรับ แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ แค่ต้องคำพิพากษา โทษจำคุก แต่แม้ไม่จำเป็นต้องจำคุกก็ผิดทันที หากคณะกรรมการฯ จะกล้าท้าว่าไม่มีความผิดก็จะใช้สิทธิของผมในการร้องเรียนคณะกรรมการฯ ต่อ ป.ป.ช. หรือศาลอาญาแผนกคดีทุจริตต่อไปได้” นายศรีสุวรรณกล่าว

ด้าน นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ตนเห็นเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ช่วงวันหยุดราชการ แต่ต้องขอเวลารวบรวมหลักฐานก่อน วันนี้จะทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกลับไปขอหลักฐานเพิ่มเติม โดยหลักการของเราคือ ไม่ว่าตำแหน่งไหนก็ตาม ถ้าผิดก็ว่ากันตามผิด ถ้าสมมติสุดท้ายว่าผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เบื้องต้นสำนักงานฯ จะรับไว้

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ความเห็นเบื้องต้นของตนคือเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 32 แต่เบื้องต้นประเด็นคล้ายๆ กัน มีคนโพสต์แบบนี้ในโซเชียลเยอะแยะ ซึ่งวรรคแรกมีกรณีห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วรรคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีผลประโยชน์ทางการค้าโดยตรง แต่มีคำเชื่อมด้วยคำว่า “หรือ” ซึ่งเดิมเคยเว้นวรรค

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สมมติหากนำตราสัญลักษณ์ไปเพื่อเห็นเจตจำนง ไม่ว่าจะชวนดื่มทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะที่มีตราสินค้าเห็นชัดเจนก็จะเข้าข่ายวรรคหนึ่งในส่วนที่สอง เบื้องต้นเราตีความตามประเด็นที่เคยดำเนินคดีในกรณีบุคคลอื่น บรรทัดฐานที่เราทำคือเป็นไปตามกฎหมาย และดำเนินการตามขั้นตอน สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ขอเก็บรวบรวมหลักฐานให้คนเกี่ยวข้องชี้แจงเพิ่มเติม หากยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ต้องว่าไปตามกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากต้องดำเนินการกับบุคคลดังกล่าว นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า เจ้าพนักงานทำตามกฎหมาย เราไม่ได้อยู่ดีๆ กล่าวโทษใคร เรารวบรวมหลักฐานตามกฎหมายเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร รวมทั้งอาจจะต้องทำหนังสือสอบถามไปยังเจ้าตัวเพื่อให้ชี้แจง หากสมมติชี้แจงแล้วยอมรับก็ดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องถึงปรับ แต่ถ้าไม่ใช่และยืนยันก็ต้องว่าตามหลักฐานก็ดำเนินคดีแล้วร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังตำรวจหรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการมีทั้งที่ยื่นร้องเรียนเข้ามาและส่วนที่เราตรวจเจอ ส่วนใหญ่มักจะมีคนร้องเข้ามาในระบบ กรณีนี้ทางนิติกรและตนดูเบื้องต้น องค์ประกอบหลายอย่างเข้าข่ายและคล้ายคดีที่พิจารณามาก่อนหน้านี้ก็ดำเนินการตามหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แต่เขาอาจมีข้อขัดแย้งว่าไม่เข้าก็ต้องว่าด้วยหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ความผิดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากแม้จะลบไปก็มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว ว่าด้วยหลักฐานเดิม แต่หากไม่ลบจะผิดต่อเนื่อง เพราะผิดเมื่อวันไหนอย่างไรจะมีความผิดต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าเจ้าตัวดำรงตำแหน่งนิติบัญญัติบอกกฎหมายมีช่องโหว่ เปิดโอกาสให้นายทุน ปิดช่องทางชาวบ้าน นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ก่อนปี 2551 มีการเสนอโทเทิลแบน ห้ามโฆษณาเลย แต่มียืดหยุ่นให้โฆษณาโดยบริษัทผู้ผลิตนำเข้าจำหน่ายภายใต้ข้อจำกัดตามกฎหมายปี 2551 แต่ปัจจุบันมีกลไกด้านขายออนไลน์ใช้ช่องว่างกฎหมายและการเข้าถึง ทำให้เกิดการโฆษณาโดยอินฟลูเอนเซอร์อื่นๆ ที่ไปจ้างดารา อินฟลูเอนเซอร์โพสต์ภาพ ซึ่งเราเอาผิดไปหมดแล้ว กรณีนี้ลักษณะคล้ายกัน มีคนตามจำนวนมากมีอิทธิพล ทำให้คนอยากไปลองชิมซื้อ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของเอง ปัจจุบันใช้กลไกแบบนี้มากขึ้น

“หลังจากนี้จะรวบรวมหลักฐานทางคดีว่ามีภาพ มีใคร ต้องขอไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องว่า คนนี้อยู่ไหนอย่างไร เพราะเวลาส่งพยานหลักฐานไปเพื่อให้ตอบกลับก็ต้องตามชื่อที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ที่ถูกต้อง มีขั้นตอนตามกฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติ”

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับเวลาที่เขาตอบกลับมา เราพยายามทำให้เร็วที่สุด ซึ่งหากผิดตามมาตรา 32 มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่มีความผิดครั้งแรก อาจปรับครั้งแรกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท อยู่ที่ดุลยพินิจและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่เพราะเป็นเรื่องกระแสทางการเมืองด้วย นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ไม่แปลกหากจะเจอกระแส แต่หากเราไม่ทำในฐานะเจ้าหน้าที่เราก็โดน เราก็ต้องตรงไปตรงมาตามกฎหมาย

เมื่อถามว่ากรณีที่ร้องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีการพูดเชียร์สุราพื้นบ้านคืบหน้าไปถึงไหน นพ.นิพนธ์กล่าวว่า กรณีที่นายศรีสุวรรณมาร้องเรียนเรื่องนี้ ตอนนั้นมีปัญหาเพราะที่โพสต์เป็นการพูดคุยในประเด็นข่าว ไม่ได้ยกภาพมาจริงๆ โดยเจ้าตัวแค่พูดชื่อว่ามีชื่อนี้อยู่

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดฯ ก็มองมุมมองแตกต่างกันใน 2-3 ประเด็น อนุฯ จึงให้ไปเก็บหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อมาไฟนอลว่าตกลงเสียงส่วนใหญ่เข้าข่ายแบบชัดเจนหรือไม่ เราพยายามเก็บหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อตอนดำเนินคดีจะได้ยืนยันว่าเหตุใดทำไมเราจึงถึงดำเนินคดี

เมื่อถามว่าการที่พูดออกมาแล้วทำให้ขายดีสามารถเอามาเป็นเหตุอ้างได้หรือไม่ว่ามีอิทธิพล นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ถึงเรียกว่าอินฟลูเอนเซอร์ หลายคนพูดโดยไม่มีเจตนาก็เรื่องหนึ่ง แต่คนที่พูดรู้ว่ามีเจตนาอะไร และหลักฐานที่เกี่ยวข้องจะเชื่อมโยงว่าอย่างไร ต้องว่ากันตามหลักฐาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน