กกต. ร่ายยาวโต้ “พิธา” แจงกระบวนการไต่สวนอาญา ม.151 ยังไม่แล้วเสร็จ เหตุรอคำวินิจฉัยศาลรธน.มาประกอบการพิจารณาด้วย ยันไม่ได้กลั่นแกล้ง-จงใจให้รับโทษ

วันที่ 16 ส.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวตามที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า “คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของ กกต. มีมติยกคำร้องในคดีอาญา มาตรา 151 ตามข้อกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจาก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ …..”

จากกรณีที่เป็นข่าวว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. โดยเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ กกต. จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ เพื่อพิจารณาว่าฝ่าฝืนมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 (พ.ร.ป.สส.) หรือไม่ประการใด นั้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

โดย กกต. ชี้แจงว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป 2566 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงาน กกต. กล่าวหาว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น อันเป็นกิจการสื่อมวลชน เชื่อว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

แต่คำร้องดังกล่าวยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติ กกต. จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวทั้งหมดไว้พิจารณา แต่เมื่อ กกต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รายละเอียดที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้อง มีเหตุอันควรเชื่อว่า นายพิธา อาจจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. ว่า นายพิธา กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ประการใด

ขณะนี้การดำเนินการสืบสวนไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้นและได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ โดยอยู่ในระหว่างกระบวนการสืบสวนไต่สวนเป็นไปตามลำดับชั้นตามระเบียบและกฎหมาย หลังจากนั้น จะได้นำเสนอข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเห็นต่อ กกต. ให้เป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

โดย เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66 กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ทำให้นายพิธา มีสมาชิกภาพเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ปรากฏว่า กกต. ได้พิจารณามีข้อเท็จจริงและมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ เชื่อได้ว่า นายพิธา อาจเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98 (3) อันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวีจำกัด (มหาชน) อาจมีผลทำให้สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

ดังนั้น จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมาย และความเห็น เสนอต่อ กกต. ให้พิจารณาสั่งการ ต่อไป

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของ นายพิธา อาจมีเหตุสิ้นสุดลง จึงเสนอความเห็นต่อ กกต. ให้มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ต่อไป

กกต. ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก กกต. จำนวน 2 คณะ เป็นผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงภายใต้การบังคับบัญชาซึ่งกันและกัน ดังนั้น คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ จะมีความเห็นเป็นเช่นใด ถือได้ว่าเป็นดุลยพินิจอันเป็นความเห็นเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนและไต่สวนเท่านั้น

อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนอีกหลายขั้นตอน กระบวนการดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด หลังจากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแล้วจะนำเสนอความเห็นต่อ กกต. พิจารณาในลำดับสุดท้าย การพิจารณาเสนอความเห็นว่า นายพิธา กระทำความผิดตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. หรือไม่

กกต. จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะดำเนินคดีอาญากับนายพิธา หรือไม่ประการใด อันเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะได้รับโทษในทางอาญา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย มาต่อสู้และหักล้างข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น

สำหรับ การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา มีเหตุต้องสิ้นสุดลง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน เป็นระบบไต่สวน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจดังกล่าวที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

กกต. ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการให้คดีที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทางหนึ่งทางใดตามที่ กกต. ต้องการ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายพิธา เฉพาะตน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร

ดังนั้น กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต่อ นายพิธา จึงยังไม่เสร็จสิ้นหรือมีผลเป็นที่สุดเด็ดขาด กกต. จึงไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือจงใจที่จะทำให้นายพิธา ต้องได้รับโทษตามกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น

การนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณชน อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่ากระบวนการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เป็นกระบวนการเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน