วันนอร์ เคาะแล้ว ประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ 22 ส.ค. รอหารือฝ่ายกฎหมาย ยันญัตติขอให้ทบทวนมติรัฐสภา 19 ก.ค.ของก้าวไกลยังอยู่ รอหารือวิป 3 ฝ่าย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 16 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภาห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวถือว่าสิ่งที่ทางรัฐสภาประชุมไปแล้วเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ขัดต่อสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปให้พิจารณาว่าระหว่างข้อบังคับกับรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไร ทำให้สิ่งที่สภาทำไปดำเนินการต่อไปได้

พรุ่งนี้ (17 ส.ค.) เวลา 14.00 น. จะให้ฝ่ายกฎหมายสภาและฝ่ายที่เกี่ยวกับประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกฯ ได้พิจารณารายละเอียดระเบียบวาระที่ค้างอยู่ และกระบวนการเลือกนายกฯ

จากนั้น ตนจะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา กับสภาทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อสรุป ที่ตนกำหนดไว้แล้วน่าจะออกระเบียบวาระได้หลังฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว และจะเชิญสมาชิกรัฐสภาประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ซึ่งตนได้หารือประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามถึงกรณี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้ทบทวนมติของที่ประชุมรัฐสภาที่ให้การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบสองเป็นการเสนอญัตติซ้ำ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลก็ต้องหารือต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อบังคับ และจะทบทวนอย่างไรต้องอยู่ในกรอบคำวินิจฉัยศาล

เมื่อถามว่าการประชุมรัฐสภาวันที่ 22 ส.ค. จะเรียบร้อยใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะดำเนินการให้เรียบร้อยมากที่สุด แต่จะจบวันที่ 22 ส.ค.หรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อถามว่าในฐานะประธานรัฐสภาเห็นควรหรือไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ ต้องเข้ามาชี้แจง และแสดงวิสัยทัศน์ด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถกำหนดได้ แต่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่ได้กำหนด ก็ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นสมควรอย่างไร

เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องของสมาชิกสมเหตุสมผลหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ถูกเสนอชื่อว่าอยู่ที่ไหน หากอยู่ที่นี่และพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่หากไม่อยู่ที่นี่ก็คงไม่สะดวก เพราะในปี 62 เราก็ได้พิจารณาในข้อนั้น รวมถึงได้สอบถามฝ่ายกฎหมายว่า ตอนร่างข้อบังคับในการเลือกนายกฯ ทำไมจึงไม่กำหนดเหมือนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่า เดิมกำหนดว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ภายหลังผู้ร่างข้อบังคับได้ตัดออกไป เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมของรัฐสภาที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา








Advertisement

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าสามารถเสนอบุคคลภายนอกได้ และเราจะนำข้อกฎหมายนี้จะมีการนำเรื่องนี้พูดคุยในการหารือวิป 3 ฝ่ายด้วย อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่อยากให้มีการกังขา หรือประเด็นอะไรต่างๆที่ยืดเยื้อกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน