ปริญญา ชี้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง เสนอชื่อ พิธา ซ้ำ อาจกระทบแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย หากโหวตไม่ผ่าน 22 ส.ค. ย้ำสภาต้องทบทวนมติ

วันที่ 18 ส.ค.2566 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึง ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กรณีเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมซ้ำไม่ได้ เป็นปัญหาอย่างไร

โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง กรณีรัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงเสนอชื่อเดิมซ้ำไม่ได้ โดยให้เหตุผลที่ไม่รับคำร้องว่า ผู้ร้องเรียนไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง

ผมเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเรื่องนี้ไว้พิจารณา มีปัญหาในทางกฎหมายดังต่อไปนี้
1.ผู้ยื่นคำร้อง หรือผู้ร้องในกรณีนี้คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจไม่รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณา แต่ต้องเป็นไปตามมาตรา 46 วรรคสาม คือ คำร้องนั้น “ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย”

แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างเหตุนี้ในการไม่รับคำร้อง เพราะคำร้องนี้ มีสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย แต่ปัญหาคือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อ้างเหตุนี้แต่ไปอ้างเหตุอื่นคือ ผู้ร้องเรียน (คือคนที่ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน) ไม่มีสิทธิร้อง จึงไม่ใช่เหตุผลที่ชอบด้วยมาตรา 46 วรรคสาม เพราะ การที่จะไม่รับคำร้องต้องเป็นเรื่องคำร้องไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย เท่านั้น

2.แม้ว่ามาตรา 46 จะบัญญัติว่าบุคคลที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าถูกกระทำการที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยต้องร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น จะต้องเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ “โดยตรง” แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณา ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่เป็นต้นทางของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 นี้ ไม่มีคำว่า โดยตรง โดยบัญญัติไว้แต่เพียงว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” ไม่มีคำว่า “โดยตรง” ตรงไหนเลย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพประชาชน การตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องตีความในทางปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายอื่นใดเขียนไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งมาตรา 213 ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพไม่ต้องโดยตรง คือไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผู้เสียหายได้








Advertisement

3.ถ้าเอาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้เช่นนี้ ตอนนี้ก็มีแต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เท่านั้นที่จะไปร้องเรียนได้ แต่เท่าที่ติดตามข่าวทราบว่า นายพิธาและพรรคก้าวไกล จะไม่ร้องเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะทบทวนมตินี้ได้ด้วยตนเอง

เรื่องนี้ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำไม่ได้ดังที่พาดหัวกันในสื่อหลายสำนัก แต่เป็นเรื่องการที่รัฐสภามีมติให้ข้อบังคับการประชุมของตนเองใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า และรัฐสภาสามารถทบทวนมตินี้เองได้ แล้วก็ควรต้องทบทวนด้วย

ความจริงแล้วยังจะมี “ผู้เสียหายโดยตรง” อีกคือ ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หากว่า(หรือสมมติว่า) นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ แล้วมตินี้ยังอยู่ (คือรัฐสภายังไม่เลิกมตินี้) นายเศรษฐา ก็จะถูกเสนอชื่อซ้ำอีกไม่ได้เช่นกัน

นายเศรษฐา (หรือคนต่อไปคือน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร) ก็จะเป็นผู้เสียหายโดยตรง และสามารถไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิเสธไม่รับคำร้อง โดยเหตุผลว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงไม่ได้แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน