กิตติศักดิ์ ลั่น เป็น 1 เสียง ไม่โหวตให้ ‘เศรษฐา’ ชี้ติดเรื่องคุณสมบัติ บอกหากเปลี่ยนเป็น ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะโหวตให้ ฝากติดตามอภิปรายพรุ่งนี้ ดุเดือดแน่นอน ด้าน’เสรี’ ขอความชัดเจนก่อนโหวตนายกฯพรุ่งนี้ ‘พท.’ส่งใครกันแน่ หวั่น เอี่ยวแก้หมวด 1 หมวด 2 รธน. บอก หาก ‘เศรษฐา’ เข้ามาแถลงในที่ประชุมเป็นเรื่องดีได้ชี้แจงข้อครหา

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวถึงจุดยืนในการออกเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22 ส.ค. จะโหวตเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.)หรือไม่ ว่า ต้องย้อนถามว่าตอนนี้นักการเมืองและพรรคการเมือง รวมเสียงได้ครบหรือยัง การโหวตนายกฯ เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย แต่สำหรับตน มีมติในใจอยู่แล้ว แต่ สว.มี 250 คน ต้องฟังเสียงของ สว. ส่วนใหญ่

“ดู ในภาพรวม หากว่ารวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว อาจมองว่าเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ แต่จากสภาพในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนายเศรษฐา แล้ว ฟันธงว่าไม่ผ่าน กิตติศักดิ์ไม่โหวตให้เศรษฐา” นายกิตติศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรหากพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมเหมือนกัน โดยเห็นว่า น.ส.แพทองธาร เพิ่งเข้าสู่การเมือง อาจยังไม่มีปมด้อยมากนัก ดังนั้น เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ส่วนตัวก็จะโหวตให้

เมื่อถามถึงกรณีเคยฟันธงว่า นายกฯ จะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่อาจเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “นั่นเป็นหมอเดา” ที่ฟันธงไว้ว่านายกฯ จะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่จะไปถึงหรือไม่ เป็นเรื่องของพรุ่งนี้ สำหรับนายเศรษฐานั้น ขอให้ติดตามการอภิปรายวันพรุ่งนี้ ดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงความคืบหน้าตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภาว่า กมธ. ได้รับเรื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ซึ่งกมธ.ได้ขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ที่ดิน และในวันนี้จะมาพิจารณากันอีกครั้ง

เมื่อถามว่าแสดงว่าเราไม่สามารถตรวจสอบให้เสร็จทันในวันที่ 22 ส.ค.ใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูตามข้อกฎหมายว่าการกระทำผิดข้อกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของภาษีอากรต้องนำเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามา อย่าไปกังวลและอย่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะต้องพิจารณาหลายเรื่อง

เมื่อถามว่าการพิจารณาในหลายๆ เรื่องที่ประกอบการพิจารณาความเห็นแสดงว่ายังมีผลต่อวันเลือกนายกฯใช่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า มีแน่นอน เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของพฤติกรรมก่อนหน้าที่จะได้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯคงต้องดูเรื่องที่ผ่านมา รวมถึงดูหลายๆเรื่องที่ปรากฏ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า ในวันที่ 22 ส.ค. สว. อาจจะยังไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ช่วงนี้คงมีความเห็นที่หลากหลาย และหลายคนคงดูจากข้อมูลที่ตนเองได้รับมา แต่ตนคิดว่าในการตัดสินใจต้องดูในวันประชุมรัฐสภา ซึ่งยังมีประเด็นว่าสุดท้ายแล้ววันพรุ่งนี้จะส่งชื่อใครกันแน่ แต่เบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นนายเศรษฐาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า พรุ่งนี้คาดว่าจะได้ตัวนายกฯคนใหม่หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเสนอชื่อใครเข้ามา และมติในที่ประชุมจะว่าอย่างไร โดยเฉพาะพรรคที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลกัน ตกลงกันได้ชัดเจนหรือยัง ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่เสียงของ สว. ซึ่งเป็นเรื่องการลงคะแนนของทั้ง สส.และ สว. ดังนั้น คะแนนที่จะได้รับต้องรวมทั้ง 2 สภา

เมื่อถามว่าเงื่อนไขที่จะทำให้ สว.ลงมติให้กับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) มีการตั้งเกณฑ์อะไรไว้บ้างหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า คิดว่ามี 2 ส่วนใหญ่ๆ เรื่องที่ 1 คือ เรื่องแนวนโยบายหรือทิศทางของการจะไปบริหารประเทศว่า หากเป็นนายกฯ แล้วในรัฐบาลชุดนี้จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันหรือไม่ เพราะ สว.ก็ยึดหลักในเรื่องเหล่านี้ โดยวินิจฉัยตัดสินใจไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว

ฉะนั้น พรรคที่มาตั้งรัฐบาลนั้นต้องตกลงกันให้ดี เพราะจากที่บอกว่าจะตั้งสสร.และทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลายเป็นเสนอว่าทำทั้งฉบับ ซึ่งจะเป็นปัญหาเกิดขึ้น หากมีการเลือกสสร. ก็เห็นอยู่แล้วว่าจะเป็นกลุ่มไหนที่จะเข้ามาทำรัฐธรรมนูญ และเห็นอยู่แล้วว่ากลุ่มที่จะเข้าแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีจุดประสงค์อะไรก็ตามที่จะรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน องค์กรต่างๆหรือเรื่องของความมั่นคง จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่า สว.จะพิจารณาในเรื่องเหล่านี้

อีกเรื่องหนึ่งคือ คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ รวมถึงเรื่องจริยธรรม ดังนั้นเรื่องทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณา

เมื่อถามว่ามีมติในใจในวันโหวตนายกฯแล้วหรือยัง นายเสรี กล่าวว่า ยัง ตนคิดว่าเราต้องทำด้วยเหตุผล และดูข้อมูล เราก็อยากให้นายเศรษฐาตอบ แต่พรรคเพื่อไทยแถลงว่าไม่ให้เข้ามา แม้ในข้อบังคับจะไม่ได้กำหนดว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ แต่ในเรื่องของการเข้ามาแถลงในที่ประชุมรัฐสภา

เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ว่า หากมีบุคคลนอกที่ไม่ใช่สมาชิกก็สามารถเข้ามาในที่ประชุมได้ โดยได้รับการอนุญาตจากประธานรัฐสภาและขึ้นอยู่กับพรรคที่เสนอชื่อ และตัวที่ได้รับการเสนอชื่อมีความประสงค์ที่จะแถลงในที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ เพราะหากแถลงจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะสามารถตอบข้อครหาหรือข้อสงสัยในทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่มาเองก็เป็นสิทธิ ไปบังคับไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน