สว.กิตติ จี้ชี้แจงความชัดเจนนโยบายต่อต้านทุจริต-แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หวั่นสร้างปัญหาเงินเฟ้อ แนะอัดฉีดเงินเฉพาะกลุ่ม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยมีผู้รับรอง 287 คน ถือว่าถูกต้องตามข้อบังคับ จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปรายคุณสมบัตินายเศรษฐา

ต่อมาเวลา 12.12 น. นายกิตติ วะสีนนท์ สว. อภิปรายว่า อยากขอความกระจ่างเรื่องความชัดเจนในเรื่องนโยบายต่อการคอร์รัปชั่น เพราะเท่าที่ฟังยังไม่มีความชัดเจนจากพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะนำเรื่องการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ชัดเจน ว่าจะแก้อย่างไรและมีวัตถุประสงค์อย่างไร

ขอความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งนโยบายประชานิยมเป็นที่ทราบดีว่าสร้างปัญหาให้กับหลายประเทศ แม้แต่ประเทศตะวันตก หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งมีผู้ใหญ่ในวงการเงิน ออกมาย้ำเตือนว่าเราอาจจะไม่ต้องการนโยบายเหล่านั้นเพราะเราผ่านวิกฤตโควิด19 มาและกำลังฟื้นตัว การจะเข้าไปช่วยเหลือ คงไม่ใช่การช่วยเหลือแบบเอาเงินอัดเข้าไป แต่ช่วยตามจุดที่เห็นว่ายังมีความต้องการอยู่ ซึ่งการที่ไม่ทำในลักษณะเจาะจงอาจจะสร้างปัญหาด้านความมั่นคง และวินัยการคลังและการเงิน

นายกิตติ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะอาจมีปัญหาอื่นตามมา เช่น เงินเฟ้อ เพราะเหมือนเป็นการสร้างอุปทานเทียมขึ้นมา ถ้าทำเช่นนั้นจะมีมาตรการอะไรป้องกัน เพราะสิ่งที่รัฐบาลจะสร้างขึ้นอาจไม่ได้อยู่ในระบบการเงิน การคลังปกติ แต่เป็นเงินดิจิทัลลักษณะเหมือนบิทคอยน์

ดังนั้น หากรัฐบาลจะทำนโยบายนี้ จะมีมาตรการอะไรมาป้องกัน ขอฝากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลว่า ลองพิจารณาปรับการอัดฉีดเงินให้เป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มที่ต้องการพลิกฟื้นหลังโควิด กลุ่มที่ต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน